พฤติกรรมชอปออนไลน์มาแรง เว็บไซต์ขายของเปิดเพียบ ทำให้ห้างฯต้องปรับตัวมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย ใครจับทางถูก รุกตลาดออนไลน์ก่อน มีโอกาสการแจ้งเกิดในยุคนี้ โดยเฉพาะสินค้าผู้หญิง กลุ่มความสวยความงาม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เสื้อผ้า แฟชั่น ต้องรู้จักสร้างคอนเทนต์ให้เกิดการบอก-แชร์ต่อ ขณะที่พฤติกรรมคุณแม่ติดบ้านนิยมซื้อของออนไลน์มาเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงสินค้ากลุ่มเฉพาะ มีแนวโน้มหาข้อมูลจากการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบันตลาดออนไลน์อยู่ในมือผู้ประกอบการรายย่อย และแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในห้างสรรพสินค้า!
ผู้บริโภคไทยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากเดิมซื้อสินค้าในช่องทางออฟไลน์หรือผ่านร้านค้า แต่ปัจจุบันเมื่อเครือข่ายเทคโนโลยี 4จี เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบนั้น ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ที่สะดวกผ่านสมาร์ทโฟน สอดคล้องกับการเข้ามาของเว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์ เช่น ลาซาด้า เอ็นโซโก้ รวมถึงความเคลื่อนไหวของผู้เล่นในวงการค้าปลีกทุกเซกเมนต์ เช่นกลุ่มห้างสรรพสินค้า กลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มเซ็นทรัลและโรบินสัน กลุ่มดิสเคาน์สโตร์เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี และเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อยกระดับจากการขายผ่าน “เซเว่นแค็ตตาล็อก” มาเป็นชอปปิ้งออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
การเคลื่อนไหวเหล่านี้ เป็นการปรับนโยบายขานรับกับกระแสความนิยมชอปปิ้งออนไลน์ ที่มีการพัฒนาตลาดมานานแล้ว โดยจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มีเว็บไซต์เป็นช่องทางขายสินค้าจากห้างสรรพสินค้า มาถึงปัจจุบันพัฒนาสู่แพลตฟอร์มการขายออนไลน์ใหม่ ในรูปแบบโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชัน ตอบสนองไลฟ์สไตล์การชอปปิ้งบนมือถือ ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดออนไลน์ยุคนี้มีความรุนแรง ด้วยบริการส่งสินค้าฟรีและเก็บเงินปลายทาง พร้อมประชันสงครามราคาเช่นเดียวกับการขายแบบออฟไลน์ในห้างสรรพสินค้า และล่าสุดยักษ์ใหญ่ กลุ่มเซ็นทรัล ปรับแผนมาปูพรมค้าปลีก “ออนไลน์” โดยเข้าซื้อธุรกิจร้านค้าออนไลน์ Zalora อย่างเป็นทางการ พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรับมือการแข่งขันในสมรภูมิออนไลน์ที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน
ปรากฏการณ์ที่ค้าปลีกไทยปรับมารุกช่องทางออนไลน์อย่างนัก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจส่วนตัวมีมากขึ้น ตลอดจนกระบวนการขายสินค้าที่มีความง่าย ไม่ต้องมีการสต๊อกสินค้าและไม่ต้องมีพื้นที่หน้าร้าน ผู้ประกอบการรายย่อย จึงสามารถขายสินค้าได้ทุกประเภท โดยนำมาจากโรงงานที่รับจ้างผลิต แล้วมาขายผ่านช่องทางออนไลน์
อีกทั้งพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทย ไม่ได้สนใจเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมที่วางขายในห้างฯอย่างเดียว แต่มีสินค้าอีกหลายประเภทที่เกิดจากผู้ประกอบการรายย่อย จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่คนหันมาใช้สินค้าแบรนด์ที่ไม่มีขายในห้าง เสื้อผ้าที่เป็นที่นิยมวันนี้ไม่ใช่เสื้อผ้าแบรนด์เนมในห้าง แต่เป็นเสื้อผ้าที่มาจากผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ซึ่งใครๆต่างก็ทำมาจำหน่ายได้ และหาซื้อได้เฉพาะบนออนไลน์เท่านั้น รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายก็ใช้วิธีซื้อสินค้ามาจากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาขายผ่านออนไลน์ ซึ่งเป็นดีมานด์ใหม่ที่เกิดขึ้น
เพิ่มจุดแข็งแบ่งแชร์จากตลาดออฟไลน์
อาจารย์สุธีรพันธุ์ สักรวัตร อาจารย์พิเศษ และที่ปรึกษาด้านการตลาดดิจิตอลและสื่อสารแบรนด์ ระบุว่า วันนี้ผู้บริโภคไทยรู้ความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน และไม่อยากเสียเวลากับการเลือกสินค้าในห้างสรรพสินค้า แต่นิยมมองหาและจับจ่ายสินค้าบนออนไลน์มากกว่า ที่น่าจับตามองคือตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยไม่ได้เติบโตสูงสุดที่กรุงเทพมหานคร แต่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากคนในต่างจังหวัดมีรายได้มากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็จะเริ่มเข้าถึง และต้องการตอบสนองรสนิยมแบบคนเมืองที่นิยมใช้ช่องทางออนไลน์ในการสั่งซื้อสินค้า
"สำหรับในยุคนี้ผู้ประกอบการหน้าใหม่แจ้งเกิดได้ไม่ยาก เพราะพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าครึ่งยังคงอยู่ในมือของประกอบการรายย่อย และยังเข้าไปชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าในห้าง”
โดยสินค้าที่ขายบนออนไลน์มีแบรนด์อยู่ 2 แบบ คือ แบรนด์เนมที่มีอยู่แล้วและนำมาขายบนออนไลน์ มีตั้งแต่ระดับสูงมากและระดับกลาง เช่นสินค้ากลุ่มพรีออเดอร์ หรือที่หิ้วมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่กระเป๋าถือหลักหมื่นถึงหลักแสน แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ หรือแกดเจ็ตต่างๆ คนที่ชอบซื้อแบรนด์เนมเปลี่ยนการซื้อจากหน้าห้างไปซื้อทางออนไลน์
อีกกลุ่มคือไม่ได้เป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ หรือเป็นที่คุ้นเคย แต่ผู้ประกอบการสมัยนี้ก็มีการพัฒนาแบรนด์ของตนเอง สร้างกลุ่ม Loyal Customer เป็นกลุ่มเฉพาะที่มีความภักดีต่อแบรนด์ สินค้าประเภทนี้ก็ถือว่ามีแบรนด์ แม้จะไม่ได้แพร่หลายทั่วประเทศ จนผู้บริโภครู้จักผ่านสื่อทั่วไป แต่ก็มีกลุ่มเฉพาะเจาะจง และมีฐานลูกค้าของตนเองอยู่
สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งการขายสินค้าแบรนด์ใหญ่ๆ ผ่านช่องทางห้างสรรพสินค้าจะไม่เคยเห็นมาก่อน ยอดขายจึงสะเทือนเพราะมีการแบ่งแชร์ออกมาที่ช่องทางเหล่านี้
สมรภูมิออนไลน์เป็นของผู้ประกอบการทุกระดับ
หากมองว่าเค้กก้อนเท่าเดิมก็กระทบกระเทือน และยิ่งเค้กก้อนลดลงเพราะสภาพเศรษฐกิจยิ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงของยักษ์ใหญ่อย่างเห็นได้ชัด เพราะการเจียดแชร์มาที่ออนไลน์ การซื้อสินค้าออนไลน์เป็นเรื่องของความสะดวกสบายส่วนหนึ่ง แต่ที่มีผลอย่างมากคือการหาสินค้าที่ต้องการบนช่องทางออฟไลน์ไม่ได้ จึงทำให้สินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ทั้งความหลากหลายของสินค้าและมีช่องทางให้เป็นทางเลือกมากมาย
ในจังหวะนี้ ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอมอีและผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่มีเงินทุนสูงไปซื้อสื่อโฆษณาทีวี สามารถเข้ามาจับทางตลาด โดยเลือกขายสินค้าที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักชอปออนไลน์ เรียกได้ว่าสมรภูมิออนไลน์วันนี้ เป็นสมรภูมิของผู้ประกอบการทุกระดับ และเทรนด์ได้เปลี่ยนไปจนเลยจุดที่จะอธิบายถึงความสำคัญของสื่อออนไลน์แล้ว สิ่งที่สำคัญคือวิธีการใช้สื่อออนไลน์
กรณีเช่นจะหาซื้อรองเท้าสักคู่ การเข้าไปในห้างฯ ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะได้รองเท้ารุ่นที่ต้องการ เพราะสินค้าในแต่ละห้างไม่เหมือนกัน แต่การหารุ่นที่ต้องการบนออนไลน์นั้นหาได้แน่นอน ไม่เว็บใดก็เว็บหนึ่ง หรือเพจใดเพจหนึ่ง คนจึงติดกับพฤติกรรมออนไลน์ ประกอบกับมีผู้เล่นเอสเอ็มอีกระโดดเข้ามาเล่นจำนวนมาก จึงไปด้วยกันได้ดีทั้งดีมานด์และซัปพลาย
เทรนด์โลกปรับตัวขานรับ
อย่างไรก็ดีกระแสการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ส่งผลกระทบทำให้ยักษ์ค้าปลีก ทั้งในยุโรป สหรัฐฯ ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ห้างใหญ่วอลมาร์ท ประกาศปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรทั่วโลก และเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ช่องทางออนไลน์ที่แข็งแรงอย่าง Alibaba ก็ได้ทุ่มเงินถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อกิจการ Lazada ช่องทางการขายยอดฮิตในวันนี้เพื่อต่อยอดธุรกิจ
เมื่อติดตามดูสถานการณ์ของห้างสรรพสินค้าในไทยที่ผ่านมานั้น นอกจากเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้คนไม่กล้าควักเงินออกมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า จนทำให้ห้างต้องออกแรงกระตุ้นยอดขาย ด้วยกิจกรรมลดราคาสินค้าปีละนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว อีกอุปสรรคที่ต้องเผชิญคือ พฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้ยอดขายลดลงจนน่าวิตก ด้วยแนวโน้มนี้ทำให้ยักษ์ใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล ปรับแผนมาปูพรมค้าปลีก “ออนไลน์” โดยเข้าซื้อธุรกิจร้านค้าออนไลน์ Zalora อย่างเป็นทางการ พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรับมือการแข่งขันในสมรภูมิออนไลน์ที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน
อาจารย์สุธีรพันธุ์ เสริมว่า ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้สื่อดิจิตอล หรือสื่อออนไลน์ของประเทศไทยในช่วงปี 2555-2556 ซึ่งนับวันยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆ จะยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลการใช้สื่ออื่นที่ติดลบหรือคงที่ แต่สื่อดิจิตอลกลับเป็นไปแบบบสวนทาง เพราะมีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดทุกปี
สำหรับอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งและเป็นกลุ่มแรกที่เบนเข็มมาใช้สื่อออนไลน์ คือ กลุ่มเทเลคอม โทรศัพท์มือถือ และแกดเจ็ต รถยนต์เป็นอุตสาหกรรมรองลงมา เทียบกับที่ไม่ได้ให้ความสำคัญใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มเปลี่ยนมาพึ่งพาสื่อออนไลน์มากขึ้น ลำดับถัดไปคือกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์ (อุปโภค บริโภค) และสกินแคร์ (ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการทำตลาดกระตุ้นการขายอย่างต่อเนื่อง และใช้สื่อที่มีความหลากหลายมานานแล้ว โดยแนวโน้มวันนี้หันมาใช้ออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
กลุ่มแดรี่โปรดักต์ (กลุ่มผลิตภัณฑ์นม) มีแนวโน้มที่น่าสนใจ ว่ามีการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น แนวโน้มการเติบโตเริ่มตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งจะเห็นได้จากพฤติกรรมของคุณแม่ที่มีกำลังซื้อสูง และใช้ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน ไม่ค่อยออกข้างนอก ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้เป็นตลาดที่มาแรง ติดอันดับหนึ่งของกลุ่มที่ชอปผ่านช่องทางออนไลน์ สินค้าที่นิยมมีทั้งสิ่งของสำหรับให้ลูก และของใช้ส่วนตัว ขณะเดียวกันเครื่องดื่มที่ไม่ได้เป็นแอลกอฮอล์ เช่น ชาเขียว น้ำผลไม้ ก็มีตัวเลขการใช้โฆษณาสื่อออนไลน์มากขึ้น เหตุเพราะสถานการณ์แข่งขันสูง
ส่วนกลุ่มสถาบันการธนาคาร ทุกค่ายหันมาใช้สื่อออนไลน์ ทั้งเพื่อการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ การตลาด และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ส่งผลให้การใช้สื่อออนไลน์กลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตอย่างชัดเจน ตามมาด้วยกลุ่มค้าปลีกร้านค้า ใช้ในด้านการตลาดจัดโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม ในช่องทางออนไลน์เป็นหลัก
ขณะเดียวกันกลุ่มประกันชีวิต ประกันภัยที่มีลักษณะเป็นตลาดแมส กระจัดกระจาย ก็หันมาใช้สื่อออนไลน์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์แบรนด์และเป็นเครื่องมือสื่อสารของตัวแทนด้วย ที่น่าสนใจคือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่วันนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการตัดสื่ออื่นออก และหันมาให้ความสำคัญกับ 2 สื่อหลักๆ คือ สื่อเอาต์ดอร์ และสื่อออนไลน์เท่านั้น
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของสื่อดิจิตอล ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่า จากอดีตที่ยักษ์ใหญ่ใช้สื่อหลักเพียงอย่างเดียว แต่วันนี้เปลี่ยนมาใช้ออนไลน์ รวมทั้งชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมใดบ้างที่จะโตจากหน้าร้านออนไลน์
แนะสินค้ายอดฮิตในตลาดออนไลน์
อาจารย์สุธีรพันธุ์ กล่าวถึงตลาดสินค้าที่เกาะเทรนด์ตามการเติบโตสื่อดิจิตอล คือ สินค้าสกินแคร์ สินค้าแม่และเด็ก สินค้าแฟชั่น สินค้าคอนซูเมอร์ที่สร้างแบรนด์เอง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สินค้าไอทีแกดเจ็ต ร้านอาหารและโรงแรมซึ่งจำเป็นมากเพราะสินค้าประเภทนี้ไม่สามารถนำสินค้าไปหาผู้บริโภคได้ ลูกค้าต้องเดินมาเจอคุณ จึงต้องใช้เครื่องมือออนไลน์ในการดึงลูกค้ามาหา
จุดเริ่มต้น คือ ต้องมีการวิเคราะห์ว่าธุรกิจของตนเองอยู่ในอุตสาหกรรมไหน เช่น เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ดูแลเส้นผม หรือสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า แกดเจ็ต ซึ่งมีโอกาสทางการขายบนออนไลน์ เพราะสามารถทำให้ลูกค้าเห็นความหลากหลาย ได้มากกว่าการเดินเลือกซื้อในห้างสรรพสินค้า อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล่านี้มีแบรนด์ยักษ์ใหญ่เข้ามาเล่นในช่องทางการขายออนไลน์แล้ว ดังนั้นหากรายเล็กไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้อนาคตอาจจะต้องลำบาก
มีกรณีตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ไม่มีหน้าร้านมาก่อน แต่สามารถจับทางได้ โดยขายเสื้อผ้าชุดคลุมท้องและของใช้สำหรับเด็กบนออนไลน์หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งประสบความสำเร็จ มียอดขายดีมาก หรือแนวโน้มที่กลุ่มสกินแคร์มีการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นนั้น ก็จะเห็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหันมาใช้สื่อออนไลน์เฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าเป็นสื่อออนไลน์อันดับหนึ่งสำหรับเอสเอ็มอี เพราะสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ง่ายที่สุด แต่ด้วยความนิยมที่หลากหลายของธุรกิจและทุกระดับ จึงมีการนำเฟซบุ๊กมาใช้เป็นเครื่องมือการตลาดตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบันนั้น จึงส่งผลให้มีข้อเสียในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ถ้าไม่มีการวางแผนกระตุ้นหน้าเพจให้ดี
สร้างคอนเทนต์ให้เกิดการบอกต่อมีแต่รวย
ทั้งนี้เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเป็นทิศทางออนไลน์อย่างชัดเจน จากเดิมที่หากต้องการซื้อสินค้า ต้องไปที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สร้างผลกระทบอย่างหนักหน่วงกับยอดขายของผู้ประกอบการรายย่อยในเชิง B2C (Business to Consumer) ที่ต้องพึ่งพาหน้าร้านในห้างสรรพสินค้า
โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีธุรกิจสินค้าแปลกใหม่ เช่น ยารักษาโรคเฉพาะ ฟาร์มปลา โรงเรียนกวดวิชา ขายเคมีเวชภัณฑ์ของเกษตรกร ซึ่งผู้บริโภคเป็นกลุ่มเฉพาะมาก จึงเรียกได้ว่าออนไลน์เป็นโอกาสเดียว เพราะยิ่งผู้บริโภคกลุ่มเล็กเท่าไร ยิ่งต้องไปควานหาบนออนไลน์เท่านั้น เพราะเป็นเส้นทางเดียว
วิธีการตามหาลูกค้าแบบออฟไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในขณะที่บนออนไลน์จะเจาะได้จากพฤติกรรมการค้นหา (Search) การเสพคอนเทนต์ การเสพข้อมูล กรณีตัวอย่าง คลินิกกายภาพบำบัด ที่เลือกใช้เฟซบุ๊กเป็นตัวสร้างชื่อเสียงให้คลินิก และดึงคนไข้เข้าไปหาที่คลินิก หรืออู่ซ่อมรถที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเรื่องการซ่อมช่วงล่างของรถ ซึ่งในทางออฟไลน์คุณไม่สามารถไปประกาศตามหารถที่วิ่งอยู่เต็มท้องถนนได้ว่าคันไหนที่มีปัญหา
ดังนั้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ จะได้มาจากความต้องการแปลกๆ หรือเฉพาะทาง ซึ่งแสดงออกด้วยพฤติกรรมการค้นหาบนออนไลน์ หรือในอีกมิติของการเข้าถึงลูกค้า สามารถทำได้ด้วยการสร้างคอนเทนต์แปลกๆ เฉพาะเรื่อง เช่น การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเลือด หรือการดูแลเรื่องกายภาพบำบัด
สิ่งที่จำเป็นคือต้องทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียให้เกิดการบอกต่อ จะทำให้เจอกลุ่มลูกค้า และเป้าหมายใหม่ๆ พลังของโซเชียลมีเดีย คือ การแนะนำบอกต่อกัน ผู้บริโภคที่มีคนใกล้ตัว และมองว่าคอนเทนต์เหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงมักจะส่งต่อกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับผู้ทำธุรกิจใหม่ๆ เฉพาะทาง
จุดเริ่มต้นการทำการตลาดดิจิตอลนั้น อาจารย์สุธีรพันธุ์ กล่าวว่า รายย่อยไม่จำเป็นต้องหาที่ปรึกษาแต่แรก เพราะการหาที่ปรึกษาโดยที่โจทย์ยังไม่ชัดเจนจะยิ่งทำให้เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น การทดลองทำเพจเฟซบุ๊ก ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถศึกษาจากเพจที่เคยทำไว้ จนกระทั่งพบแนวทางที่ตนเองถนัด
รวมทั้งควรเริ่มจากการศึกษา การเข้าอบรมหลักสูตรดิจิตอลมาร์เกตติ้งที่มีการสอนผู้ประกอบการให้ทำการตลาดดิจิตอล โดยใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ และเครื่องมือการเสิร์ช ได้แก่ กูเกิล และยูทูป ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะมีหรือไม่มีเว็บไซต์ก็ได้ เพราะสามารถใช้โซเชียลมีเดียทดแทนตัวตน ให้เป็นหน้าร้านบนโลกออนไลน์ได้ดีเทียบเท่ากับเว็บไซต์