xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” เผยบริษัทแห่ซื้อซองก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพาคึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟผ.เผยเอกชนแห่ซื้อซองประกวดราคาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาคึกคัก ล่าสุดมีผู้ซื้อซองก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว 8 ราย-ท่าเทียบเรือ 12 ราย พบมีเอกชนจากจีนเข้ามา 2-3 รายหวังบุกตลาดโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาค


นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากการเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดด้านเทคนิคและราคา (Bidding Documents) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลาเฟส 1 ระหว่างวันที่ 19 พ.ค.-21 ก.ค. 59 และการก่อสร้างท่าเรือและระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน 25 พ.ค.-25 ก.ค. 59 ล่าสุดขณะนี้มีผู้สนใจมาซื้อเอกสารประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว 8 ราย ส่วนการก่อสร้างท่าเรือและระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน 12 ราย

“คาดว่าหลังจากปิดการขายซองประกวดราคาก่อสร้างแล้วคงจะไม่มีการซื้อเพิ่มมากไปกว่านี้แล้ว สิ่งที่น่าสังเกตครั้งนี้พบว่าผู้ซื้อซองประกวดราคาที่น่าสนใจคือมีบริษัทจีน 2-3 รายเข้าร่วมด้วยซึ่งถือว่ามากพอสมควร แสดงว่าจีนต้องการเข้ามาเปิดตลาดในภูมิภาค และโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เป็นเทคโนโลยีที่จีนทำอยู่แล้วต่างกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่มีเจ้าของเทคโนโลยีใหญ่เพียง 4 รายในโลกนี้เท่านั้น” นายรัตนชัยกล่าว

สำหรับขั้นตอนหลังการเปิดขายซองแล้ว กฟผ.จะเปิดให้ยื่นซองประกวดราคาในส่วนโรงไฟฟ้าวันที่ 19 ต.ค. และท่าเทียบเรือและระบบสายพานวันที่ 26 ต.ค. จากนั้นจะพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาภายใน 6 เดือน โดย กฟผ.จัดการประมูลครั้งนี้คู่ขนานกับขั้นตอนการพิจารณารายงานผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) เพื่อให้โครงการเดินหน้าอย่างรวดเร็วและจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ทันกำหนดในปี 2564

“กฟผ.คาดหวังว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ยอมรับว่าล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 800 เกมะวัตต์ ที่ยังรอกระบวนการไตรภาคีและคาดว่าจะสรุปได้ภายเดือน ส.ค.นี้ ที่ผ่านมาก็ถือว่าล่าช้าไปแล้วกว่า 1 ปี โดยโอกาสที่โครงการจะเดินต่อไปก็ยังหวังได้แค่ครึ่งต่อครึ่ง” นายรัตนชัยกล่าว

นายรัตนชัยกล่าวว่า โครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เฟสที่ 1 จ.สมุทรปราการ และโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทนเครื่องที่ 1-2 จ.ฉะเชิงเทราว่า กฟผ.เจรจากับผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่าค่าจัดซื้อและจ้างก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการรวมกันต่ำกว่าราคากลางที่ประเมินไว้ถึง 31.05% หรือราว 18,142 ล้านบาท โดยโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เฟสที่ 1 มีกิจการค้าร่วมระหว่างซีเมนส์กับมารูเบนิเป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคาก่อสร้าง 18,405 ล้านบาท จากราคากลางการจัดซื้อและจ้างก่อสร้างที่ 28,920 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,400 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทนเครื่องที่ 1-2 มีกิจการค้าร่วมระหว่างซูมิโตโม, แบล็ค แอนด์ วิชซ์ (ประเทศไทย) และอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 21,882 ล้านบาท จากราคาจัดซื้อและจ้างก่อสร้าง 29,509 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,234 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น