xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ตามหาสินค้าอินทรีย์ช้างเผือก 10 รายการ ก่อนโปรโมตเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” แจ้งความคืบหน้าการตามหาช้างเผือกสินค้าอินทรีย์ 10 รายการ เพื่อเสริมแกร่งเข้าสู่ตลาด เผยล่าสุด ได้สินค้าที่มีอนาคตแล้ว 6 รายการ เตรียมหาต่อให้ครบภายในเดือนนี้ มั่นใจผลักดันเข้าสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นแน่ พร้อมจัดงาน Organic & Natural EXPO 2016 โปรโมตอีกทาง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนายกระดับสินค้าอินทรีย์ใหม่เข้าสู่ตลาด ว่า ขณะนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด จำนวน 72 จังหวัด จากเป้าหมาย 60 จังหวัด ได้ทำการคัดเลือกสินค้าอินทรีย์ในจังหวัดส่งไปยังศูนย์ภาคเพื่ออบรมพัฒนามาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ และเสริมสร้างความรู้สู่การส่งออกแล้ว โดยศูนย์ภาคกลางได้ทำการอบรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และคัดเลือกสินค้าต้นแบบแล้ว 6 สินค้า เมื่อวันที่ 21-23 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดนครปฐม ส่วนศูนย์ภาคอื่นๆ มีกำหนดจัดอบรมในภาพรวมภายในเดือนนี้

โดยจากการคัดเลือกสินค้าอินทรีย์ มีสินค้าที่น่าสนใจ เช่น ข้าวหอมชลสิทธิ์อินทรีย์ เบียร์ขิงออร์แกนิค ชาส้มแขกสำเร็จรูป น้ำลูกหยีผสมน้ำผึ้ง เครื่องสำอาง ข้าวหอมกระดังงา เป็นต้น ซึ่งตามเป้าหมาย กระทรวงฯ จะทำการคัดเลือกสินค้านำร่องให้ได้ จำนวน 10 ชนิด และจะนำไปพัฒนาให้มีมาตรฐานสากล มีบรรจุภัณฑ์ที่ตรงต่อความต้องการของตลาด เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาสินค้าอินทรีย์ชนิดอื่นต่อไป จากนั้นจะผลักดันเข้าสู่ตลาดทั้งใน และต่างประเทศ

นางอภิรดี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการพัฒนาฝ้ายและชา ที่ดำเนินการร่วมกับโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาให้สินค้าในโครงการพระราชดำริได้รับมาตรฐานอินทรีย์ในระดับส่งออก และขยายชนิดสินค้าอินทรีย์เพิ่มเติมไปถึงกาแฟ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งได้สร้างโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สินค้าฝ้าย ภาคเอกชนเป็นผู้รับซื้อฝ้ายทั้งหมด และดำเนินการต่ออายุใบรับรอง ให้พื้นที่เอง โดยสามารถสร้างตลาดอย่างยั่งยืน ส่วนสินค้าชา กระทรวงฯ ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้แก่ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนา และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกชาอูหลงอยู่แล้วพัฒนาเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ และต่อมา ได้สนับสนุนให้ยกระดับสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ในระดับสากล คือ มาตรฐาน IFOAM ซึ่งมีการตรวจรับรองโดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) เป็นการขอรับรองพื้นที่การผลิตชาอู่หลงอินทรีย์ และลูกหม่อนอินทรีย์ โดยได้ขอรับรองทั้งในส่วนการผลิตของเกษตรกร และการแปรรูปชาอินทรีย์ โดยเกษตรกรจะจำหน่ายยอดชาสดให้แก่โครงการฯ ณ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ซึ่งเป็นผู้แปรรูป และจำหน่ายสินค้าชาอู่หลงอินทรีย์ในโลโก้ภูฟ้า

ปัจจุบัน ชาอินทรีย์ภูฟ้า ได้รับการรับรองในมาตรฐาน IFOAM มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากปี 2558 เป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการควบคุมภายในพืชอินทรีย์และการตรวจรับรองมาตรฐาน IFOAM ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ช่วยในการขยายกลุ่ม/พื้นที่ให้แก่เกษตรกร สามารถรวมกลุ่มเพื่อให้ประหยัดค่ารับรองมาตรฐานสากล และจะเน้นเรื่องการขยายชนิดสินค้าเพิ่มเติมในพื้นที่ให้มีสินค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเข้ารับการตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ของ มกท. ระหว่างวันที่ 20-27 พ.ค.2559 ณ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จำนวน 22 ราย

นางอภิรดี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าวันนี้อุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ของไทยมีความพร้อมที่จะสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยศักยภาพด้านสินค้าอินทรีย์หลากหลายประเภทที่มีคุณภาพมีมาตรฐาน และได้รับการยอมรับจากนานาชาติทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ไทยยังมีความสามารถ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าอินทรีย์ในรูปแบบใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการขยายตลาดเพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างครบวงจร กระทรวงฯ จะจัดงาน Organic & Natural EXPO 2016 ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 28 ถึงวันอาทิตย์ 31 ก.ค.2559 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้องเพลนนารี่ ฮอลล์ 1-3 และห้องบอลรูม โดยผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของงานสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.organicnaturalexpo.com หรือ โทร.0-2507-5722-23

ขณะนี้มูลค่าสินค้าอินทรีย์ในตลาดโลกมีมูลค่ารวมสูงถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศ ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมา คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน สำหรับประเทศไทย มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 235,523 ไร่ มีฟาร์มที่ผ่านการรับรอง 9,961 ฟาร์ม คิดเป็น 0.15 % ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ มีมูลค่าตลาด 2,331 ล้านบาท และมีตลาดส่งออกเกษตรอินทรีย์ไทยที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และ สิงคโปร์
กำลังโหลดความคิดเห็น