โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
จากโรงพยาบาลเล็ก ๆ บนเกาะห่างไกล สภาพเก่าคร่ำคร่า และทรุดโทรม แถมถูกจัดเป็นลำดับสุดท้ายของ จ.พังงา ที่จะได้รับรองคุณภาพสถานพยาบาล โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. แต่สุดท้าย “รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์” กลับกลายเป็นม้ามืด ที่สามารถพัฒนาและพลิกโฉมจนเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของ จ.พังงา ที่ได้รับรองคุณภาพสถานพยาบาล
นพ.มนฑิต พูลสงวน ผู้อำนวยการ รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ จ.พังงา เล่าว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่ตนเพิ่งเรียนจบแพทย์ และมาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ รพ.เกาะยาว ขณะนั้น รพ. ยังมีขนาดเพียง 10 เตียง แถมมีสภาพเก่าและกันดาร เพราะการคมนาคมยังไม่สะดวก ไฟฟ้าก็ใช้ได้แค่เพียง 06.00 - 18.00 น. ไม่มีโทรศัพท์แต่ภายหลังได้รับการบูรณะจากวิกฤตเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปลายปี 2547 ทำให้ได้โรงพยาบาลและอาคารใหม่ สิ่งอำนวยความสะดวกก็เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชกระแสรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินโครงการก่อสร้างและปรับปรุงโรงพยาบาลใหม่ กลายเป็น รพ. ขนาด 30 เตียง และพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์
“สำหรับการเข้าสู่กระบวนการประเมินการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลนั้น ทุกคนต่างคิดว่าไม่น่าจะผ่านการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ เอชเอ ได้ แต่หลังจากที่ทาง สรพ. มาให้คำแนะนำ ก็ทำให้เข้าใจกระบวนการในการทำเอชเอมากขึ้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ได้ ไม่ใช่ถูกทิ้งเป็นโรงพยาบาลสุดท้าย จึงเริ่มเข้าสู่กระบนการทำเอชเอในปี 2545 โดยหลักการคือ ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และมาประเมินหาจุดเด่นจุดด้อยของโรงพยาบาล แล้วพัฒนาขึ้นจากข้อจำกัดที่เรามีอยู่ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย ไม่เสียชีวิต” ผอ.รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ กล่าว
ข้อจำกัดสำคัญของ รพ.เกาะยาวฯ คือ การอยู่บนเกาะ ต้องใช้เวลาเดินทางเป็นเวลานาน หากเป็นเรือสปีดโบ้ตใช้เวลาประมาณ 30 นาที เรือหางยาวประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะที่ประชากรบนเกาะซึ่งมีประมาณ 1.2 หมื่นคน รวม 3.8 พันกว่าหลังคาเรือน ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย คือ อุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งจำเป็นต้องส่งไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งหากส่งไปยัง รพ.พังงา ก็จะใช้เวลา แต่จากกระบวนการของการทำเอชเอ ในการยึดผู้ป่วยเป็นสำคัญ จนกลายเป็นวัฒนธรรมในการทำงานของบุคลากร ทำให้เราปรับการทำงาน โดยส่งต่อไปยัง รพ.วชิระภูเก็ต ซึ่งเดินทางใกล้กว่า ผู้ป่วยก็จะมีความปลอดภัยกว่า
“แม้จะเปลี่ยนการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.วชิระภูเก็ต แต่ในส่วนของงบประมาณในการส่งต่อผู้ป่วยทางเรือ ซึ่งต้องใช้สปีดโบ้ท เพราะมีความรวดเร็วนั้น มีราคาเที่ยวละ 8,000 บาท ซึ่งระเบียบในการเบิกค่าส่งต่อฉุกเฉินตรงนี้ก็ยังไม่ครอบคลุม ในพื้นที่ก็มีการแก้ปัญหากันเอง โดยบุคลากร รพ. ก็มีการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จนสุดท้ายมีการตั้งกองทุนเฉพาะสำหรับชาวเกาะยาวน้อย เพ่อนำมาช่วยเหลือกรณีเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องส่งต่อ ซึ่ง 1 เดือนจะพบประมาณ 10 เคส ขณะที่ชาวบ้านก็มีการจัดตั้งหน่วยกู้ชีพเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือเบื้องต้น และนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามกระบวนการเอชเอทั้งสิ้น เพราะการประเมินทำให้เรารู้ว่า รพ. อยู่ในระดับใด และต้องพัฒนอะไรบ้าง” ผอ.รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ กล่าว
ปัจจุบัน รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง บุคลากรมี 69 คน เป็นแพทย์ 1 คน ทันตแพทย์ 2 คน พยาบาล 20 คน เภสัชกร 2 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ 44 คน สำหรับการให้บริการผู้ป่วยนั้น ข้อมูลในปี 2558 ให้บริการผู้ป่วยนอก 6,635 คน รวม 30,778 ครั้ง ผู้ป่วยใน 648 คน อุบัติเหตุฉุกเฉิน 9,766 ครั้ง ส่งต่อผู้ป่วย 811 คน สำหรับการประเมินรับรองคุณภาพสถานพยาบาลนั้น ในปี 2547 ผ่านการประเมินขั้นที่ 1 พัฒนาต่อเนื่องจนปี 2549 ผ่านการประเมินขั้นที่ 2 จนปี 2550 จึงได้รับการรับรองมาตรฐานเอชเอ โดยปี 2555 ได้รับการรับรองซ้ำอีกรอบ และปี 2558 ได้รับการประเมินซ้ำเป็นรอบที่ 2 รวมเป็นผ่านการรับรองเอชเอ 3 ครั้ง ซึ่ง ผอ.รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ ระบุว่า จะไม่หยุดการพัฒนาเพียงเท่านี้
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า รพ.เกาะยาวฯ ถือเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบที่พัฒนาความสามารถของโรงพยาบาลภายใต้ข้อจำกัด ให้มีการบริการที่ได้รับความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการทำเอชเอ เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน การประเมินเพื่อรับรองคุณภาพเอชเอก็มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถนำวิธีการของ รพ. ใด รพ. หนึ่งมาใช้ได้ แต่ต้องพัฒนาจากจุดเด่นจุดด้อยของ รพ. ที่มี โดยเน้นให้ รพ. ประเมินตนเอง มีข้อจำกัดอะไร มีโอกาสพัฒนาไร โดยกระบวนการรับรองจะมี 3 ขั้นตอน คือ 1. เมื่อรู้ความเสี่ยงของตัวเองแล้ว ก็ต้องพัฒนาวางระบบแก้ปัญหา ซึ่งหากสามารถทำตามที่วางระบบเอาไว้ได้ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 2 การประเมินคุณภาพ โดย สรพ. จะมีทีมที่ปรึกษา ผู้เยี่ยวสำรวจ เข้าไปประเมิน และ 3. การรับรองคุณภาพ ซึ่งหากพัฒนาคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานก็จะให้การรับรอง มีอายุ 2 ปี โดยไม่ได้ดูว่าต้องมีทรัพยากรที่พร้อม มีอาคารใหม่ อุปกรณ์ที่ทันสมัยแต่อย่างใด แต่ดูที่การทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการรับบริการมากที่สุด อย่างของ รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ คือ การส่งต่อ รพ. ที่มีศักยภาพสูงกว่า
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่