xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.เปิดเวที “Sister Airport CEO” หารือพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทอท.สัมมนา “sister Airport CEO Forum 2016” สร้างเครือข่ายร่วมมือพัฒนาสนามบิน รองรับการเติบโตในอนาคตในทุกมิติ “อาคม” ย้ำมาตรฐานความปลอดภัยสนามบินไทยสูงสุด พร้อมเดินหน้าตรวจแอร์ไลน์ ปลดธงแดง ICAO ด้าน ทอท.ลุยประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2 เร่งเปิด 7 สัญญาครบใน ธ.ค.นี้ พร้อมเป็นพี่เลี้ยง ช่วยประเทศอาเซียนปรับปรุงสนามบินประเทศอาเซียน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงอภิปราย AOT sister Airport CEO Forum 2016 ภายใต้แนวคิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความสำเร็จในอนาคต ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กับท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก และในอาเซียน+6 ที่ ทอท.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 11 องค์กร โดยมีท่าอากาศยานอยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลง 15 แห่งใน 4 ภูมิภาค โดยระบุว่าเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การบริหารจัดการสนามบินในทุกๆ มิติ ทั้งด้านบริการ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และก่อการร้าย เป็นต้น และจะเป็นประโยชน์ต่อบางประเทศที่อาจจะมีศักยภาพในการพัฒนาสนามบินไม่เท่ากัน ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้ความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน จึงมีนโยบายให้ประเทศใหญ่ที่มีความพร้อมช่วยเหลือประเทศเล็กให้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการและมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐาน ส่วนสนามบินของไทยนั้น มาตรฐานความปลอดภัยอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งมีความเข้มข้นมากแล้ว

ส่วนความคืบหน้าการแก้ SSC เพื่อปลดธงแดง ICAO นั้น อยู่ระหว่างเตรียมบุคลากรซึ่งได้รับมา 30 คน อยู่ระหว่างอบรม 17 คน เพื่อเป็นผู้ตรวจสอบด้านการปฏิบัติการบิน (Flight Operation Inspector) ซึ่งผู้ตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐานของ ICAO นั้น ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเป็นนักบินแต่ต้องเป็นผู้รู้กฎระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติการบิน โดยในเดือนสิงหาคมนี้จะมีการเริ่มกระบวนการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC- Recertification) คาดว่าจะสามารถดำเนินการตรวจสอบได้อย่างน้อย 5-6 สายการบิน และจะดำเนินการให้ครบทั้งหมด

ทั้งนี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) คาดการณ์ว่า ผู้โดยสารเครื่องบินจะเติบโตปีละ 4.1% โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตสูงสุด นอกจากนี้ การเปิด AEC เมื่อปลายปี 2558 ได้ส่งผลให้ผู้โดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นภายใต้นโยบาย Single Aviation Market ซึ่งมีข้อตกลงการเข้าถึงตลาด การแลกเปลี่ยน สิทธิของประเทศสมาชิก สายการบินในภูมิภาคนี้จะมีการเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่ ซึ่ง ทอท.จะต้องขยายขีดความสามารถของสนามบิน 6 แห่งที่ดูแลให้รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 150 ล้านคน/ปี ขณะที่ 28 สนามบินภูมิภาคจะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพเช่นกัน รวมถึงจะต้องพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งอุตฯต้นน้ำและปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ICAO เตือนเร่งพัฒนาสนามบิน ต้องพัฒนาบุคลากรและมาตรฐานความปลอดภัยด้วย

Mr. Arun Mishra ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ICAO กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินสูง จำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถของสนามบินอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ความท้าทายคือการรักษาประสิทธิภาพการดำเนินกิจการการบินในระดับสูงตามมาตรฐาน ซึ่ง ICAO เห็นว่ามีสนามบินหลายแห่งที่ยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องสอดคล้องกับมาตรฐาน รวมถึงจะต้องพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถให้เพียงพอ

ทอท.พร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนามบินประเทศอาเซียน ชูศูนย์กลางมีมาตรฐาน ICAO

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ใน 3 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมท่าอากาศยานทั่วโลกจะมีการเติบโตของรายได้ประมาณ 157.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นรายได้จากการการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์มากกว่ารายได้ที่เกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งนอกจากทอท.จะพัฒนาสนามบินของตัวเองเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนเพื่อเชื่อมการบินไปยังยุโรปและอเมริกาแล้ว จะพัฒนาความร่วมมือกับสนามบินประเทศอาเซียนในทุกๆ ด้านที่ ทอท.มีความพร้อมและประสบการณ์มากกว่า เนื่องจากบางประเทศพัฒนาสนามบินไม่ทัน แต่การเติบโตของสนามบินในอาเซียนจะเป็นไปแบบคลัสเตอร์ บินแบบ Point to Point เชื่อมกันได้ ซึ่งสุวรรณภูมิจะเป็นฮับ และเป็นเป้าหมายของ ทอท.ที่จะทำธุรกิจการบินที่ครอบคลุมมากขึ้น

การประชุมร่วมกันของสมาชิก 11 องค์กรที่กำกับดูแล 15 สนามบินครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สำคัญ เพราะก่อนหน้านี้จะเป็นการหารือแบบสองต่อสอง ซึ่งจะทำให้รู้ว่ามาตรฐานปลอดภัยยุโรปพัฒนาเป็นอย่างไร ส่วนยุโรปจะรู้ว่ามาตรฐานบริการที่เอเชียต้องการเป็นอย่างไร แต่ละแห่งจะมีข้อดีไปคนละแบบ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกัน เช่น การรับมือก่อการร้าย,การพัฒนาบริการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯ

นอกจากนี้ สนามบินใน CLMV ค่อนข้างเป็นสนามบินเล็ก บินแบบจุดต่อจุด (Point to Point) มาตรฐานด้านความปลอดภัยจะเป็นแบบหนึ่ง ขณะที่ ทอท.มีสนามบินที่ให้บริการระยะไกล (Long-haul route) ไปอเมริกา ซึ่งต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยของ TSA หรือบินไปยุโรปต้องมีมาตรฐานของเอียซ่า ซึ่งการลงทุนพัฒนาสนามบินของ ทอท.จะเป็นไปตามมาตรฐานของการให้บริการ

เร่งประมูลเฟส 2 ครบ 7 สัญญาใน ธ.ค. 59

โดย ทอท.มีแผนพัฒนาสนามบิน 6 แห่ง ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 181 ล้านคนต่อปี วงเงินประมาณ 1.94 แสนล้านบาท ซึ่งเฉพาะสุวรรณภูมิเฟส 2 กรอบลงทุน 6.2 หมื่นล้านบาทนั้น ได้เปิดประมูลแล้ว 2 งาน คือ ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ วงเงิน 14,000 ล้านบาท และงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภควงเงิน 1,900 ล้านบาท ในเดือนก.ค.นี้จะเปิดประมูลงานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน (CSC) วงเงิน 800 ล้านบาท และในเดือน ส.ค.จะเปิดประมูล สัญญางานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ซึ่งกรมบัญชีกลางเห็นชอบหลักเกณฑ์การคิดราคากลางแล้ว โดยจะเร่งประมูลอีก 3 สัญญา ที่เหลือให้เสร็จใน ธ.ค. 2559 นี้ซึ่งเร็วกว่าแผนที่จะประมูลครบสิ้นเดือน ม.ค. 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น