มาแล้ว 3 รายบิ๊กเนม “BTS-BEM และราชบุรีโฮลดิ้ง” ร่วมซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าชมพู-เหลือง มูลค่าโครงการรวมกว่าแสนล้าน กันคึกคักตั้งแต่เปิดขายซองวันแรก คาดมีเวลาศึกษารายละเอียดก่อนยื่นประมูลในวันที่ 7 พ.ย. รฟม.คาดเริ่มก่อสร้าง พ.ค. 60
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เป็นวันแรกที่ รฟม.ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,490 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท ปรากฏว่ามีเอกชน 3 รายเข้าซื้อเอกสารประกวดราคาทั้ง 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และบริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าซื้อเอกสารประกวดราคาตั้งแต่ช่วงแรกที่เปิดขายเพื่อนำไปทีโออาร์ไปศึกษารายละเอียด ซึ่ง รฟม.กำหนดให้ผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาทั้ง 2 โครงการในวันที่ 6 ก.ค. 2559-5 ส.ค. 2559 เวลา 09.00-15.00 น. และเปิดให้ยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 7 พ.ย. 2559 เวลา 09.00-15.00 น. เปิดซองข้อเสนอในวันที่ 17 พ.ย. 2559 เวลา 13.00 น. โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail ให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP- Net Cost
โดยตามแผนจะกำหนดขายเอกสารประกวดราคาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2559-5 ส.ค. 2559 เวลา 09.00-15.00 น. และเปิดให้ยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 7 พ.ย. 2559 เวลา 09.00-15.00 น. เปิดซองข้อเสนอในวันที่ 17 พ.ย. 2559 เวลา 13.00 น. จากนั้นจะเจรจา และเสนอ ครม.เห็นชอบ คาดลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน พ.ค. 2560 กำหนดเปิดให้บริการในปี 2563
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีค่างานโยธา 20,135 ล้านบาท สายสีเหลืองมีค่างานโยธา 22,354 ล้านบาท โดย รฟม.จะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้สัมปทานการลงทุนออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงแก่ผู้รับสัมปทาน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พิจารณาคัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชน ซึ่งจะพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเทคนิคก่อน หากผ่านเกณฑ์จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งจะมีข้อเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. และหรือจำนวนเงินสนับสนุนที่จะขอรับจาก รฟม. โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องมีผลประโยชน์สุทธิสูงที่สุด โดยนำเงินตอบแทนที่เสนอให้แก่ รฟม. หักด้วยจำนวนเงินสนับสนุนที่จะขอรับจาก รฟม.