xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” คิกออฟบังคับใช้ กม.หลักประกันธุรกิจ ตั้งเป้าปีนี้มี SMEs และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุน 3 แสนราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” คิกออฟบังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ปลดล็อกการเข้าถึงแหล่งเงินทุน คาดมี SMEs และกลุ่ม Startup เข้าคิวรอใช้บริการกว่า 3 แสนราย ชี้ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว และอันดับความง่ายในการทำธุรกิจดีขึ้น “คลัง” เตรียมเพิ่มผู้รับหลักประกันอีก 6 ราย นอกเหนือจากแบงก์ ประกัน เครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทเงินทุน ด้านสมาคมธนาคารไทยเชื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น



นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (4 ก.ค.) ถือเป็นวันแรกของการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 อย่างเป็นทางการ และถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของธุรกิจไทยที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในการต่อยอดธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้จะมีสถาบันการเงินทยอยนำผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และกลุ่มธุรกิจ Startup เข้ามาสู่ระบบการจดทะเบียนกว่า 3 แสนราย ซึ่งจะทำให้ SMEs และ Startup มีเงินทุนไปใช้เพื่อขยายธุรกิจ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้สร้างให้เกิดอาชีพใหม่ในวงการธุรกิจไทย โดยกฎหมายกำหนดให้มีผู้บังคับหลักประกัน มาจากคนที่ทำอาชีพและมีความรู้ความชำนาญด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐกิจศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยผู้บังคับหลักประกันจะเข้ามาทำหน้าที่กรณีนำกิจการมาเป็นหลักประกัน ซึ่งขณะนี้ได้อบรมไปแล้ว 2 รุ่น รุ่นละ 100 ราย

นางอภิรดีกล่าวว่า กระทรวงฯ ได้เตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมาย โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ปรับโครงสร้างมีองค์กรที่ดูแลโดยเฉพาะ มีการออกกฎหมายลำดับรอง 13 ฉบับ เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน เช่น กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนและให้ประชาชนตรวจดูข้อมูล และยังได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการจดทะเบียนออนไลน์ ซึ่งสถาบันการเงินสามารถยื่นจดทะเบียนหลักประกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหากยื่นจดก่อนก็จะได้สิทธิในการรับชำระหนี้ก่อน

ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายฉบับนี้ ในส่วนของ SMEs และ Startup จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยตรงและง่ายขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจได้ต่อเนื่องจนเกิดสภาพคล่องทางธุรกิจดียิ่งขึ้น ขณะที่สถาบันการเงิน สามารถขยายการให้สินเชื่อแก่ SMEs และกลุ่ม Startup ได้มากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง เพราะลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากกฎหมายมีรูปแบบการดำเนินงานที่รวดเร็วเป็นธรรม

“สุดท้ายประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะกลับมาช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น เพราะมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก และยังจะส่งผลเชิงบวกในสายของนักลงทุนต่างชาติว่าการทำธุรกิจในประเทศไทยง่ายขึ้น และการจัดอันดับด้านการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านการได้รับสินเชื่อ จะดีขึ้นตามมาในอนาคต” นางอภิรดีกล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เสนอกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกันเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะมีบุคคลอีก 6 ประเภท ได้แก่ นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์, ทรัสตี, บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม, ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า, บริษัทบริหารสินทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจแฟกตอริ่ง เข้ามาเป็นผู้รับหลักประกันเพิ่มเติมจากเดิมที่มีแค่สถาบันการเงิน บริษัทประกัน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทเงินทุน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น เพราะมีทางเลือกสำหรับการนำหลักประกันที่จะมาใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่ง SMEs ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากกฎหมายฉบับนี้มี 2 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ (Startup) โดยส่วนใหญ่จะไม่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน และกลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังจะขยายธุรกิจ ที่มักจะประสบปัญหาหลักประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อเพิ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น