เริ่มแล้ว บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ “อธิรดี” เชื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและมากยิ่งขึ้น คาดได้รับประโยชน์กว่า 3 แสนราย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันนี้ (4 ก.ค.) กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะเริ่มให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจเป็นวันแรกเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจชาวไทยเข้าถึงเงินทุนจากสถาบันการเงินง่ายขึ้น โดยได้ประสานไปยังทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมที่ดิน และกรมการขนส่งเพื่อกำหนดแนวทางการแจ้งข้อมูลต่อกรมฯ และสมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกำหนดวิธีการจดทะเบียน รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ กรมฯ จะให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ มี 5 ด้าน คือ 1. การจัดทำโครงสร้างองค์กรและเตรียมพร้อมบุคลากร รองรับการจัดตั้งกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นภารกิจใหม่ของกรมฯ 2. การออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 13 ฉบับ เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน เช่น กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนและให้ประชาชนตรวจดูข้อมูล 3. ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากระบบการจดทะเบียนฯ ทุกกระบวนการจะเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด (e-Secured) สถาบันการเงินจึงสามารถยื่นคำขอต่อกรมฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลการจดทะเบียนได้แบบ Real Time ทั้งนี้ ช่วงเวลาการจดทะเบียนฯ จะมีผลต่อลำดับการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มาขอสินเชื่อในแต่ละสถาบันการเงิน
4. สร้างผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งเป็นวิชาชีพใหม่ในวงการธุรกิจไทย โดยกรมฯ ได้ออกประกาศกระทรวงเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับใบการอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน และจัดทำหลักสูตรการอบรม ขณะนี้ได้ดำเนินการอบรมไปแล้วจำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 100 ราย และ 5. สร้างความเข้าใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อชี้แนะช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแห่งใหม่
“เชื่อว่ากฎหมายนี้จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้อย่างมหาศาล และคาดว่าสถาบันการเงินจะทยอยนำ SMEs และกลุ่ม Startup เข้ามาสู่ระบบการจดทะเบียนฯ กว่า 3 แสนราย โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง คือ SMEs ที่เข้าถึงเงินทุนได้โดยตรงจะนำไปต่อยอดการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า รวมถึงยังสามารถนำทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันอันประกอบไปด้วย กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจได้ต่อเนื่องจนเกิดสภาพคล่องทางธุรกิจมากขึ้น” นางอภิรดีกล่าว
นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังสามารถขยายสินเชื่อให้ SMEs และกลุ่ม Startup ได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลงเพราะลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากกฎหมายฯ มีรูปแบบการดำเนินงานที่รวดเร็วเป็นธรรม ดังนั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น อีกทั้งส่งผลกระทบเชิงบวกในสายของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ง่ายขึ้นทัดเทียมกับนานาชาติ และการจัดอันดับด้านการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (World Bank) ก็จะดีขึ้นตามมาในอนาคตได้
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุน จะส่งผลดีต่อกระบวนการผลิต เพิ่มการจ้างงาน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว การที่ไทยมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะทำให้ต่างชาติมองว่าไทยมีความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เมื่อกฎหมายฯ ฉบับนี้ได้บังคับใช้แล้วก็จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและอันดับ Ease of Doing Business ก็จะดีขึ้น โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) ที่ในปี 2016 นี้ ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 49
สำหรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจซึ่งกระทรวงฯ อยู่ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน พ.ศ. ... ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกำหนดให้บุคคลทั้งหมด 6 ประเภท สามารถเข้ามาเป็น ‘ผู้รับหลักประกัน’ ตามกฎหมายได้ประกอบด้วย 1. นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ 2. ทรัสตี ในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน 3. บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้ถือหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4. ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5. บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ และ 6. ผู้ประกอบธุรกิจแฟกตอริ่ง สำหรับแนวทางการกำหนดประเภททรัพย์สินที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังที่จะกำหนดประเภททรัพย์สินอื่นต่อไป
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ SMEs มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น เพราะมีทางเลือกสำหรับการนำหลักประกันที่จะมาใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่ง SMEs ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากกฎหมายฉบับนี้มี 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ (Startup) ส่วนใหญ่จะไม่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน และ 2. กลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังจะขยายธุรกิจมักจะประสบปัญหาหลักประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อเพิ่ม
“เวลานี้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีความพร้อมทั้งเรื่องระบบ กระบวนการทำงานและบุคลากรเพื่อรองรับการจดทะเบียนผ่านระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมถึงได้กำหนดนโยบายการให้สินเชื่อและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วย” นายปรีดีกล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *