กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่เต็มไปด้วยไอเดียดีๆ แต่ขาดเงินทุน ยังมีอยู่มากมายในวงล้อเศรษฐกิจไทย หรือที่เราเรียกกันว่ากลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) ทั้งจดตั้งในรูปแบบบริษัท นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา อุปสรรคสำคัญของการแปลงไอเดียให้เป็นธุรกิจไม่ใช่อื่นใด แต่เป็นเรื่องของ “เงินทุน” ซึ่งขณะนี้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน ต่างกำลังผสานความร่วมมือ ขับเคลื่อนให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง
ที่จะเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นภายในสิ้นเดือนนี้คือ การจัดงาน “Startup Thailand 2016” ระหว่างวันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ 11 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงานดังกล่าวขึ้น โดยมีกลุ่ม Startup เข้าร่วมงาน 180 ราย จากสถิติที่ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักธุรกิจ Startup ถึง 2,500 ราย
นอกจากกลุ่มสตาร์ทอัพ และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะเข้าไปร่วมงานแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือ กลุ่มสถาบันการเงิน ที่เปรียบเสมือน “ฟันเฟือง” หลักในการช่วยสร้างฝันให้กับนักรบพันธ์ใหม่เหล่านี้นี้ให้เป็นจริง ทั้งธนาคารของรัฐ และเอกชน รวมถึง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นหนึ่งใน “สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ” ก็จะเข้าไปเปิดบูธให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับ SMEs ที่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีหลักประกันไม่เพียงพอ ตรงนี้เองที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของกลุ่มสตาร์ทอัพ ในการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร
แน่นอนว่ารัฐมองเห็นปัญหาเรื่อง “เงินทุน” ของกลุ่ม “สตาร์ทอัพ” โดยพยายามหาเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ Venture Capital, Angel Venture Capital หรือที่กำลังได้รับความนิยมในบ้านเราอย่าง Crowd Funding ซึ่งให้ SMEs ที่เป็นสตาร์ทอัพ มาโพสต์ไอเดียของตัวเองไว้บนเว็บไซต์ ให้คนที่สนใจเข้ามาลงทุน หากสามารถระดมทุนได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะสามารถนำเงินดังกล่าวไปสร้างโปรเจคก์
รูปแบบการลงทุนเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ ประเทศ เป็นเสมือนประเพณีในการหาเงินทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยการ “ขอเงิน” หรือ “ระดมเงิน” จากนักลงทุน โดยการขายไอเดีย ความน่าสนใจของธุรกิจในรูปแบบต่างๆ หากนักลงทุน หรือกองทุนไหนมองว่าธุรกิจนี้มีอนาคต ก็จะเข้ามาลงทุนด้วย โดยได้รับผลตอบแทน เป็นสิทธิ์ในการแบ่งปันรายได้ หรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทนั้นๆ
ปัจจุบันการช่วยเหลือด้านเงินลงทุนเพื่อแจ้งเกิดกลุ่มสตาร์ทอัพของรัฐบาลทั้งหมด จึงยังอยู่ในลักษณะนี้ แต่ยังไม่มีเรื่องของการ “กู้เงิน” มาเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยขับเคลื่อน
ข่าวดีที่เกิดขึ้นคือ ขณะนี้ บสย. กำลังจะมี “โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ และนวัตกรรม” ที่คาดว่าจะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม หากได้รับความเห็นชอบ ก็จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหลักของรัฐบาลที่เข้ามาช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน ปล่อยสินเชื่อ โดยมี บสย. เข้าไปช่วยค้ำประกัน ซึ่งจะทำให้ธนาคารต่างๆ กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ถูกมองว่าค่อนข้างมีความเสี่ยง เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ได้มากยิ่งขึ้น
วันนี้ “สตาร์ทอัพ” จึงเป็นอีกหนึ่งวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลเร่งผลักดันในทุกๆ มิติ ใครรู้ว่าตัวเองมีไอเดียที่ดี สามารถสร้างเป็นธุรกิจให้เติบโตได้ เตรียมตัวไว้ให้ดี การแจ้งเกิดของนักรบพันธ์ใหม่กลุ่มสตาร์ทอัพในเมืองไทยวันนี้ จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *