รองนายกฯ ชี้ ศก.ไทยจำเป็นต้องก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เทคโนโลยี ไอที และผู้ประกอบการ Startup เผยสัญญาณ ศก.เริ่มฟื้นตัว ภาคเอกชนรายยักษ์ต่างชาติ ทั้งแอร์เอเชีย-หัวเหว่ย เล็งตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย ระบุยุทธศาสตร์ Startup ของไทย ใช้จุดเด่นประเทศ ทั้งภาคเกษตร ท่องเที่ยว และบริการ เชื่อมต่อไอที ปูทางสร้างอนาคตประเทศแบบยั่งยืน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การขับเคลื่อน Startup Thailand : ฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย” ภายในงาน Startup Thailand 2016 ว่า อนาคตของเศรษฐกิจไทยต้องเดินอยู่บนเส้นทางที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวนำ ซึ่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจดังกล่าวได้ต้องมีลักษณะอุตสาหกรรมที่หลากหลาย คล่องตัว และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก นั่นคือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่กลุ่ม Startup
ทังนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยพัฒนาจากยุคที่ 1 คือ ภาคเกษตรกรรม ส่งออกสินค้าเกษตรต่างๆ ไปต่างประเทศ ยุคที่ 2 คือ พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า และส่งออก เกิดเป็นอุตสาหกรรมเบาที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น สิ่งทอ ยุคที่ 3 ยุคอุตสาหกรรมวิทยาการ เช่น ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นมามาก
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ 3 นี่เองจะเห็นได้ว่า มีทั้งช่วงรุ่งเรืองอัตราการเติบโตของ GDP ประเทศไทยเคยเกิน 10% ต่อปี แต่ก็พาปัญหาหลายอย่างเข้ามา นำไปสู่ฟองสบู่แตกปี 40 ปัญหาการเมือง นอกจากนั้น ถ้าย้อนกลับไปสัก 15 ปีที่แล้ว GDP ประเทศไทยเคยเติบโตปีละ 6-7% เมื่อ 10 ปีต่อมาเหลือ 4-5% และย้อนกลับหลัง 5 ปี โตเหลือ 2-3% อัตราลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาแล้ว จำเป็นต้องเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคที่ 3 ไปสู่ยุคที่ 4 ให้ได้ ซึ่งรัฐบาลจึงต้องวางพื้นฐานเศรษฐกินไทยให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ไอที และผู้ประกอบการ Startup เพราะเป็นแนวโน้มของกระแสโลกที่ต้องขับเคลื่อนไป
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น การเมืองเริ่มนิ่ง การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัว ยอดสิ้นไตรมาส 1 ขยายตัว 0.9% ซึ่งเป็นผลจากภาคเอกชนของไทยมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าที่หลากหลาย และภาคเอกชนต่างชาติหลายรายเริ่มกลับมาลงทุน อย่างเมื่อเช้าวันนี้ (29 เม.ย) “มิสเตอร์โทนี่ เฟอร์นานเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินแอร์เอเชีย ได้มาพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) บอกถึงความเชื่อมั่นที่ต่อประเทศไทยในการเป็น “เกตเวย์แห่งอาเซียน” หลังจากการเปิดสู่ AEC รวมทั้งมีความพร้อมที่จะเป็น HUB หรือศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคนี้ด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วแอร์เอเชียมีแผนที่จะมาตั้ง “สำนักงานใหญ่” ในประเทศไทย รวมทั้งเตรียมที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยด้วยเช่นกันเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
นอกจากนี้ แอร์เอเชียยังมองโอกาสในการขยายบริการให้แก่นักท่องเที่ยวเนื่องจากมองเห็นว่าคนในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง และชื่นชอบการท่องเที่ยว จะส่งผลให้ความต้องการใช้บริการของสายการบินโลว์คอสต์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับเมืองใหญ่ในภูมิภาค แอร์เอเชีย จึงมีความสนใจที่ลงทุนสร้างสนามบินในภูมิภาค เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นต่อการพิจารณาของกรมการบินพลเรือน รวมทั้งยังสนใจจะร่วมทุนกับบริษัทการบินไทยเพื่อให้เกิดความร่วมมือส่งเสริมธุรกิจระหว่างกันโดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้น แต่ต้องการให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
เช่นเดียวกับบริษัทหัวเหว่ย ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และไอทีรายใหญ่จากประเทศจีน ก็มีความประสงค์จะเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ขึ้นในไทยในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
“ทั้งสองกรณีสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังส่งสัญญาณที่ดีขึ้นหากการเมืองมีเสถียรภาพดี ก็จะจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น สิ่งสำคัญคนไทยต้องไม่ทำร้ายกันเอง เพราะความเชื่อมั่นของคนลงทุนต่างชาติกำลังกลับมาแล้ว นี่เป็นสัญญานของอนาคตที่สดใส อีกทั้งการลงทุนภาครัฐจะต้องเกิดขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งผม และท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ลงติดตามด้วยตัวเอง ซึ่งผมจะไม่บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว แต่ผมบอกว่า นี่จึงเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นแล้ว แต่เราก็จะประมาทไม่ได้” ดร.สมคิด กล่าว
ทั้งนี้ จากที่กล่าวข้างต้นว่า เศรษฐกิจไทยยุค 4.0 จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และผู้ประกอบการ Startup รัฐบาลจึงเริ่มเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกระจายไปทั่วประเทศกว่าหมื่นล้านบาท โดยกระทรวงไอซีที ขณะที่ภาคเอกชนได้ทยอยลงทุนด้านเทคโนโลยีหลายแสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แนวทางการสร้าง Startup ของหลายประเทศ อย่างเกาหลี และสิงคโปร์ จะอาศัยแต่เรื่องเฉพาะของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่สำหรับ Startup ของประเทศไทยนั้นเราจะเพิ่มความพิเศษด้วยการดึงจุดเด่นของประเทศ ได้แก่ ภาคเกษตร การท่องเที่ยว และบริการ เข้ามาผสมผสาน ซึ่งจุดนี้จะทำให้ Startup ของประเทศไทยมีจุดเด่นเฉือนชนะประเทศอื่นๆ เพราะเราใช้ศักยภาพที่มีอยู่แล้ว เสริมด้วยไอทีเข้าไปเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น นำไอทีมาขยายตลาดภาคเกษตร ผลิตอาหารแปรรูป และสินค้าเกษตรป้อนตลาดโลก เป็นต้น ซึ่งจุดนี้ชาติอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการสร้างผู้ประกอบการใหม่ในกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ
ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวรัฐบาลนำร่องในด้านเกษตรก่อน ในการตั้ง “Food Innopolis” เพื่อตั้งเป็นสถาบันแห่งอนาคตแห่งแรกด้วยการนำจุดเด่นของไทยมาปรับใช้ในการพัฒนาด้านเกษตร ผ่านวิทยาการด้วยการดึงเอกชนรายใหญ่ มหาวิทยาลัยทั้งในต่างประเทศ มาแปรรูปสินค้าเกษตร หาช่องทางการตลาด แปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำหน่ายผ่านเว็บออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของโลก เนื่องจากไทยมีจุดเด่นในด้านดังกล่าว
จากนั้นจะขยายไปยังอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ โดยใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาว ซึ่งถ้าเกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวนมากก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งมากทวีคูณขึ้นไป ไม่ต้องพึ่งพาเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศที่มีอยู่แค่ 20 กว่ารายเท่านั้นเหมือนปัจจุบัน นี่จะเป็นการสร้างสมดุลของระบบเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าในอนาคตใครจะมาเป็นรัฐบาลก็จะเดินบนเส้นทางนี้ต่อไป นี่จึงเป็นการปูบทบาท และเส้นทางเดินของประเทศไทยในอนาคตอย่างแท้จริง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *