“กรมพัฒน์” เผยจดตั้งธุรกิจใหม่เดือน ก.ค.เฉียด 5 พันราย ลดลง 9% เหตุมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ส่วนยอดเลิกกิจการลดลง 9% เช่นเดียวกัน คาดยอดจดทั้งปียังเป็นไปตามเป้า 6-6.5 หมื่นราย เหตุรัฐมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพียบ ขณะที่การจดสัญญาหลักประกันธุรกิจ ทะลุ 4.59 หมื่นคำขอ ยัน ครม.ให้ความสำคัญกฎหมายจัดตั้งนิติบุคคลคนเดียว โดยให้มาปรับแก้รายละเอียดให้ทันสมัย ไม่ใช่ถอนร่างออก
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจเดือน ก.ค. 2559 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 4,919 ราย ลดลง 9% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2558 และลดลง 17% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยมีทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มูลค่า 1.54 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศช่วง 7 เดือน 2559 (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวน 3.67 หมื่นราย ลดลง 0.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
“การจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือน ก.ค. ที่ลดลงเพราะมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง โดยมีวันทำการเพียง 18 วัน จึงส่งผลกระทบต่อยอดการจดทะเบียน ส่วนภาพรวมของการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ช่วง 7 เดือน ถือว่าใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือ ลดลงแค่ 0.6% เท่านั้น ถือว่ายังเป็นตัวเลขปกติ” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
สำหรับการจดทะเบียนนิติบุคคลเลิกในเดือน ก.ค. 2559 มีจำนวน 1,405 ราย ลดลง 9% เมื่อเทียบกับก.ค. 2558 แต่เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับ มิ.ย. 2559 โดยทุนจดทะเบียนเลิก 1.50 หมื่นล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด คือ ธุรกิจค้าสลาก จำนวน 158 ราย คิดเป็น 11% ส่วนสาเหตุที่เลิก เนื่องจากธุรกิจไม่ได้ประกอบกิจการ ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกช่วง 7 เดือน มีจำนวน 8,239 ราย ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กรมฯ คาดว่าในช่วง 5 เดือนที่เหลือ (ส.ค.-ธ.ค.) การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลปี 2559 น่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่าปี 2558 เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่กระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ยกเว้นภาษีจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาให้มาจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐออกมาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) และกลุ่มที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี และมาตรการภาษีพี่ช่วยน้อง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัว 3.5% ทำให้กรมฯ ยังคงตั้งเป้ามียอดการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ทั้งปีอยู่ที่ 6-6.5 หมื่นรายเช่นเดิม
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ที่กรมฯ ได้เปิดให้บริการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2559 พบว่าในเดือน ก.ค. มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจำนวน 4.59 หมื่นคำขอ มูลค่า 2.34 แสนล้านบาท แบ่งประเภททรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้ 2 ประเภท คือ สิทธิเรียกร้อง มูลค่า 2.07 แสนล้านบาท คิดเป็น 88% แบ่งเป็น บัญชีเงินฝากธนาคาร มูลค่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 85.5% สิทธิการเช่า มูลค่า 1,155 ล้านบาท คิดเป็น 0.5% อื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า มูลค่า 5,268 ล้านบาท คิดเป็น 2.2% สังหาริมทรัพย์ มูลค่า 2.76 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 12% แบ่งเป็น สินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ มูลค่า 2.12 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 9.0% เครื่องจักร มูลค่า 4,592 ล้านบาท คิดเป็น 2.0% รถยนต์ มูลค่า 1,808 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% และกรมฯ ได้ออกใบอนุญาตผู้บังคับหลักประกันแล้วจำนวน 88 ราย
ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์มีการนำร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งนิติบุคคลโดยคนเดียว พ.ศ. ... ออกจากการพิจารณาของที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก ครม.ต้องการให้กรมฯ กลับไปดูรายละเอียดร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักสากลของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ยืนยันว่าไม่ใช่การยกร่างออก และไมต้องนำไปร่วมกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการจดทะเบียนนิติบุคคลเดียวที่จะมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยในต่างประเทศก็มีกฎหมายจัดตั้งนิติบุคคลคนเดียว