รฟม.เจรจา กทม.ปรับแผนก่อสร้างสีน้ำเงินต่อขยาย เข้าพื้นที่สามแยกไฟฉายใน ก.ค.นี้ หลังอุโมงค์ทางลอด กทม.ล่าช้า “ผู้ว่าฯ รฟม.” เร่งสปีดก่อสร้างเพื่อเปิดเดินรถในปี 62 แต่ช่วงแรก ต้องวิ่งผ่านสถานีสามแยกไฟฉายโดยไม่จอด เหตุตัวสถานีเสร็จไม่ทัน พร้อมยอมรับเปิดเดินรถรอยต่อ 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ไม่ทัน ธ.ค. 59 แม้เจรจาตรง BEM เหตุเร่งการวางระบบเร็วสุดเสร็จใน 10 เดือน
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เรื่องการคัดเลือกผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งตามมติคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) ที่ให้ใช้แนวทางการเจรจาตรงกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้เดินรถสายเฉลิมรัชมงคลนั้น ขณะนี้ รฟม.ได้เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่ง สคร.จะเชิญคณะกรรมการมาตรา 35 ไปหารือถึงเหตุผลในการพิจารณาก่อนสรุปความเห็นเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ต่อไป
ยอมรับเดินรถรอยต่อ 1 สถานี เปิดไม่ได้ ธ.ค. 59
ทั้งนี้ คาดว่าหลัง กก.PPP เห็นชอบจะกลับมาที่ กก.มาตรา 35 จะใช้เวลาเจรจาประมาณ 2 เดือนจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนลงนามสัญญากับเอกชน ซึ่งคาดว่าเร็วที่สุดช่วง ก.ย.-ต.ค. 2559 ตามแผนการติดตั้งระบบช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ทาง BEM ใช้เวลา 12 เดือน แต่จะเร่งให้เร็วขึ้นเป็น 10 เดือน แต่ยอมรับว่าการเปิดเดินเดินรถช่วงรอยต่อ 1 สถานี ใน ธ.ค. 2559 คงเป็นไปได้ยาก
เร่งสีน้ำเงินเปิดปี 62 แต่ยังจอดสถานีสามแยกไฟฉายไม่ได้
สำหรับการก่อสร้างงานโยธาสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บริเวณสามแยกไฟฉาย ถ.จรัญสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างทับซ้อนระหว่างรถไฟฟ้ากับอุโมงค์ลอดทางแยกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น เดิมจะต้องให้บริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยกเสร็จก่อน รฟม.จึงจะเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างเสาตอม่อทางวิ่งรถไฟฟ้าได้ แต่เนื่องจากงานก่อสร้างอุโมงค์ของ กทม.ล่าช้า ล่าสุดจึงได้ประสาน กทม.ขอเข้าพื้นที่ก่อน เนื่องจากเห็นว่างานก่อสร้างสายสีน้ำเงินต่อขยายมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยจะเข้าพื้นที่เดือน ก.ค.นี้ เชื่อว่าการก่อสร้างทางวิ่งจะเสร็จใน 3 ปี โดยเป้าหมายเปิดเดินรถในปี 2562 นั้นยอมรับว่าช่วงแรกที่เปิดทางวิ่งจะเสร็จ แต่สถานีสามแยกไฟฉายอาจจะยังไม่เสร็จและอาจจะไม่สามารถจอดรถที่สถานีสามแยกไฟฉายได้ในช่วงแรก
จัดรถเชื่อมต่อ 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ยังไม่ลงตัว สั่งทดลองวิ่งก่อนเปิดสีม่วงเป็นทางการ
ส่วนการจัดรถเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีเตาปูน กับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล สถานีบางซื่อนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทดลองวิ่งรถเมล์ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ค.นี้ ก่อนที่จะเปิดให้บริการสายสีม่วงอย่างเป็นทางการ วันที่ 6 ส.ค. 2559
โดยตามแผนจะมีรถเมล์วิ่งบริการ 1 ขบวนๆ ละ 3 คัน ซึ่ง รฟม.จะต้องปรับพื้นที่ทางกายภาพของสถานีเตาปูนเพื่อเป็นที่จอดรถเมล์ โดยจะเช่ารถ ขสมก.วิ่งวน ช่วง 06.30-24.00 น.จากเตาปูน-บางซื่อ วิ่งวนชุดละ 3 คัน ความจุ 240 คน/1 ชุด ซึ่งจัด ไว้ 15 คัน สำรองอีก 5 คัน ค่าเช่าคันละ16,000 บาทต่อวัน โดยตำรวจจราจร จะปรับการจราจรบนสะพานสูงบางซื่อเป็นเดินรถทางเดียว ดังนั้นขาไปจากเตาปูน-บางซื่อ ประมาณ 10 นาที ส่วนขากลับจะวิ่งอ้อม ถ.เทิดดำริ ถ.ทหาร ถ.เตชะวณิช และ ถ.ประชาราษฎร์สาย 2 ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที
ส่วนรถไฟจากสถานีบางซ่อน-บางซื่อ ระยะทาง 3 กม. จัดรถ 5 ตู้ ความถี่ 15 นาที/ขบวน ช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น 06.30-09.30 น. และ16.00-20.30 น. ค่าเช่าให้ ร.ฟ.ท.วันละ 200,000 บาท
ทั้งนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้โดยสารที่จะเดินทางเชื่อมต่อ 1 สถานี ในชั่วโมงเร่งด่วนสูงสุดที่สถานีเตาปูน ประมาณ 3,630 คน/ชั่วโมง