ป้อมพระสุเมรุ
หากเปรียบโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ หรือที่มีชื่อเรียกสวยหรูว่า “สัปปายนะสภาสถาน” เป็น มหากาพย์ เพราะมีประวัติความเป็นมาของแนวคิดการก่อสร้างมาหลายสิบปี และปัจจุบันก็ยังติดขัดปัญหาหลายประการ จนยังไม่มีแนวโน้มที่จะแล้วเสร็จ
ขณะที่ โครงการ “สะพานเกียกกาย” ที่กำลังมีการก่อสร้างขึ้นเคียงคู่กับรัฐสภาแห่งใหม่ ก็คงเปรียบเหมือนภาพยนตร์เรื่องยาวน้องๆมหากาพย์เช่นกัน เพราะมีปัญหาไม่แพ้กัน
แม้ทั้ง 2 โครงการเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่มีจุดที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน จึงมีความเกี่ยวโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ มาลงตัวเรื่องสถานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเกียกกาย 123 ไร่ก็ช่วงปี 2551 รัฐบาลขณะนั้นอนุมัติงบประมาณก่อสร้างเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท และทำการคัดเลือกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่หรือ “สัปปายนะสภาสถาน” ได้ตั้งแต่ปลายปี 2552 ส่วนสะพานเกียกายนั้นมีการกำหนดแผนก่อสร้างเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรมามานานนับสิบปีเช่นกัน แต่กว่าจะมาเริ่มสำรวจและออกแบบโดยความรับผิดชอบของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ช่วงปี 2553
หากพิจารณาจากห้วงเวลาการออกแบบทั้ง 2 โครงการ จะเห็นได้ว่า “แบบ” ของสะพานเกียกกายนั้นเกิดทีหลังการเลือกสถานที่และ “แบบ” ของรัฐสภาแห่งใหม่ที่จบไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2552
เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่นี้ กทม.ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวก และบรรเทาปัญหาการจราจรที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดใช้รัฐสภาแห่งใหม่ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ กลับไม่เห็นด้วยกับ “แบบเดิม” ของสะพานเกียกกายที่ กทม.จะใช้ในการก่อสร้าง
โดยโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ได้ถูกออกแบบให้เป็นสะพานยกระดับ และถนนต่อเชื่อมยกระดับขนาด 4 - 6 ช่องจราจร ระยะทาง 4.5 กม. จุดเริ่มต้นอยู่ทางรถไฟสายใต้ ข้าม ถ.จรัญสนิทวงศ์ แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่ ถ.สามเสน ถ.ทหาร ถ.เตชะวณิช ถ.ประดิพัทธ์ วกเข้า ถ.เทอดดำริห์ วกออกข้ามทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณ ถ.พระรามที่ 6 เข้า ถ.กำแพงเพชร ผ่านตลาด อ.ต.ก. ตลาดนัดจตุจักร มาบรรจบกับ ถ.พหลโยธิน ด้านกรมการขนส่งทางบก รวมระยะทางประมาณ 5.9 กิโลเมตร
ช่วงที่เป็นปัญหาคือ ช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี และผ่านหน้ารัฐสภาแห่งใหม่ เพราะหลายฝ่ายมองว่า “บดบังทัศนียภาพ” ของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เป็นอาคารที่มีความสำคัญระดับชาติหมดราศีและเสื่อมค่าลง
จนกลายเป็นวาระที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามโครงการก่อสร้างสะพานเกียกกาย ต้องลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พร้อมมอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรวิชาชีพต่างๆ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนจากสภาสถาปนิก, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ทีม สงบ.1051 ผู้ออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ขาดไม่ได้คือ ตัวแทนจาก กทม.
“ความเห็นส่วนใหญ่” ในที่ประชุมในวันนั้นเห็นว่า นอกเหนือจากแบบของสะพานที่ไม่โจทย์สภาพการจราจรในปัจจุบัน เนื่องจากมีการศึกษามาตั้งแต่ช่วงปี 2553 แล้ว ยังมีปัญหาต่อทัศนียภาพของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ด้วย ซึ่ง ดร.อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้เสนอมุมมองว่า นอกเหนือว่าแนวสะพานในภาพรวมจะมีผลต่อทัศนียภาพของอาคารรัฐสภาอย่างร้ายแรง อีกทั้ง Model ที่ กทม. โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำขึ้นไม่ได้ตามมาตรฐานทางสถาปนิกเพียงพอ สมาคมสถาปนิกสยามฯ จึงอาสาเป็นผู้สำรวจ และจัดทำ Model ทั้งแบบเดิมของ กทม. รวมทั้งจัดทำ Model จากการศึกษาแนวสะพานใหม่ด้วย
จากนั้นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ได้มีการประชุมอีกครั้ง โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานในการประชุมเช่นเดิม ซึ่งทางสมาคมสถาปนิกสยามฯได้เสนอ Model ตามข้อเสนอเดิมของ กทม. รวมทั้งข้อเสนอของสมาคมสถาปนิกสยามฯอีก 3 ทางเลือก
หลังจากการพิจารณาร่วมกันแล้ว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เลือกแนวทาว “สะพานที่เบี่ยงขนานไปกับอาคารรัฐสภา” ตามข้อเสนอสมาคมสถาปนิกสยามฯ และมอบหมายให้ กทม., สำนักนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมศึกษาข้อมูลผลกระทบต่อโบราณสภานและบริเวณโดยรอบ
แต่ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 กทม.ได้เชิญตัวแทนจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ “เพียงหน่วยงานเดียว” เพื่อชี้แจงผลกระทบกรณีปรับแนวสะพานตามข้อเสนอของสมาคมสถาปนิกสยามฯที่ รมว.มหาดไทย ได้เลือกไว้แล้ว รวมไปถึงเหตุจำเป็นในการก่อสร้างสะพานตาม “แบบเดิม” ซึ่ง ดร.อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯที่ไปร่วมประชุมในวันนั้น ก็ได้ยืนยันถึงข้อสรุปที่ รมว.มหาดไทย ได้เลือกแนวสะพานตามข้อเสนอของสมาคมสถาปนิกสยามฯ และแนะนำว่า กทม.ควรไปศึกษาเรื่องผลกระทบตามที่ได้รับมอบหมาย มากกว่าจะมาพยายาม “โน้วน้าว” ให้สมาคมสถาปนิกสยามฯเห็นคล้อยตาม
ถัดมาเพียงสัปดาห์เดียวก็มีข่าวจากทาง กทม. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดย ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานออกแบบ สำนักการโยธา กทม. เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายพร้อมถนนเชื่อมว่า ได้หารือกับสมาคมสถาปนิกสยามฯแล้ว ยังยืนยัน “รูปแบบการก่อสร้างเดิม” สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมถนนทางเชื่อมยกระดับบริเวณเกียกกาย พร้อมเปิดเผยว่า เตรียมเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการในปี 2561 วงเงินงบประมาณ 10,500 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,000 ล้านบาท
เรื่องราวน้องๆมหากาพย์ของ “สะพานเกียกกาย” จึงวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง พร้อมๆกับคำถามที่ว่าแล้วผลการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งคนสำคัญในรัฐบาลอย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เลือกข้อเสนอของสมาคมสถาปนิกสยามฯในการปรับแบบของ กทม.ให้เป็นสะพานที่เบี่ยงขนานไปกับอาคารรัฐสภานั้นหายไปไหน
ในทำนองเพลงดัง “อ้าวเฮ้ย!! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า”