xs
xsm
sm
md
lg

สร้างรถไฟเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เฟสแรก กทม.-พิษณุโลก 384 กม.ก่อน เริ่มออกแบบปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ถกญี่ปุ่นสรุปผลศึกษาเบื้องต้นรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ เคาะแบ่งก่อสร้าง 2 เฟส โดยเริ่มเฟสแรก กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 384 กม. พร้อมศึกษาการพัฒนาเชิงพาณิชย์ควบคู่ ช่วยดันผลตอบแทนลงทุน เตรียมชง ครม.รับทราบ ก.ค.นี้ เดินหน้าสรุปผลศึกษาสมบูรณ์คาดเริ่มออกแบบ ปี 60

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ Mr. Tsutomo Shimura รองอธิบดีกรมการรถไฟ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และคณะทำงานภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในส่วนของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. ว่าทางญี่ปุ่นได้รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้น โดยจะแบ่งการก่อสร้างโดยเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทางประมาณ 384 กม.และช่วงที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 289 กิโลเมตร ซึ่งพบว่า แนวทางการก่อสร้างที่มีความเหมาะสมในระยะแรก คือ ก่อสร้างช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก เพราะมีผลตอบแทนของโครงการดีกว่าการก่อสร้างพร้อมกันทั้งโครงการตั้งแต่กรุงเทพ-เชียงใหม่ โดยทางญี่ปุ่นจะสรุปรายงานขั้นกลางผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน ก.ค.นี้

ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ในการลงทุนของการก่อสร้างช่วงที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลกก่อน จะต้องอยู่บนเงื่อนไข ของการพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากรายได้จากโครงการรถไฟความเร็วสูงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีธุรกิจ การพัฒนาพื้นที่ร่วมด้วย ทั้งการพัฒนาพื้นที่ในสถานี พื้นที่สองข้างทางหรือการพัฒนานิคมต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพัฒนาตลอดเส้นทาง แต่พิจารณาจุดที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นช่วงๆ ได้ ซึ่งจะช่วยทำให้ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการดีขึ้น

“หลังที่ได้ให้โจทย์กับทางญี่ปุ่นให้ทำข้อมูลความคุ้มค่าในการลงทุนในแต่ละแนวทาง เช่น ก่อสร้างพร้อมกันตลอดโครงการ, กรณีแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน หรือหากจะแบ่งการก่อสร้างแต่ละตอนสั้นลงอีก แต่ละแนวทางมีความคุ้มค่าอย่างไร พบว่า แบ่งสร้างช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลกเป็นไปได้และมีผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่วนช่วงที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่จะก่อสร้างเมื่อมีการเจริญเติบโตของเมืองตามการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในช่วงที่ 1 แล้ว เพราะผลตอบแทนโครงการจะดีขึ้น ซึ่งทางญี่ปุ่นจะคำนวณเรื่องผลตอบแทนโครงการให้ชัดเจนต่อไป ส่วนการพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้นเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เปลี่ยนวิธีการคิดในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานว่าไม่ใช่เวนคืนที่ดินมาแล้วทำแค่รถไฟอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาว่าช่วงไหนของเส้นทางที่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้ผลตอบแทนต่อโครงการได้” นายอาคมกล่าว

โดยรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมจะเสร็จปลายปี 2559 จากนั้นในปี 2560 จะศึกษาและออกแบบรายละเอียด ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ส่วนการก่อสร้างในช่วงแรกกรุงเทพ-พิษณุโลก คาดว่าจะใช่เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และเมื่อเสร็จจะเปิดให้บริการก่อนซึ่งถือว่าเร็ว เนื่องจากรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น ใช้เวลาศึกษา 3 ปี ออกแบบอีก 5 ปี สำหรับการลงทุนจะมีหลายรูปแบบ รัฐบาลลงทุนหรือเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งจะต้องสรุปรายละเอียดมูลค่าโครงการก่อสร้าง ส่วนการบริหารการเดินรถนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารงาน

อย่างไรก็ตาม ได้ขอให้ญี่ปุ่นช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพราะมีประสบการณ์ ซึ่งทางไจก้าตอบรับในการให้ความช่วยเหลือแล้ว ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการมองภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาช่วยอีกทาง โดยจะเสนอของบประมาณเพื่อทำการศึกษาควบคู่ไปกับญี่ปุ่น

“เราต้องเรียนรู้จากญี่ปุ่น กรณีชินคันเซ็นของญี่ปุ่นผ่านเมืองเล็กๆ การพัฒนาต่างๆ ยังใช้เวลาเป็น 10 ปี ซึ่งต้องอยู่ที่ว่าวิธีการจะพัฒนาอย่างไร รัฐจะพัฒนาเองหรือให้เอกชนพัฒนา ซึ่งการให้เอกชนพัฒนา สิ่งสำคัญคือเรื่องการวางผังพื้นที่วางผังการใช้ประโยชน์แล้วค่อยจัดรูปที่ดิน หากจุดไหนจำเป็นจะซื้อที่ดินเลย ญี่ปุ่นทำแบบนี้ เพราะมีกระทรวงที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว รวมงาน 4 เรื่องไว้กระทรวงเดียวกัน ดงนั้นการพัฒนาการก่อสร้างโครงการต่างๆ จะมีอำนาจในการเวนคืนและซื้อที่ดินด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น