xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” เจรจาญี่ปุ่น-จีนใช้ระบบอาณัติสัญญาณกลาง เล็งใช้ทางรถไฟร่วมหวังลดค่าก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เตรียมประชุมรถไฟไทย-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 วันที่ 24-27 ส.ค. 58 คาดสรุปผลความร่วมมือเสนอ ครม.มิ.ย. 59 เพื่อขออนุมัติหลักการ พร้อมเร่งสำรวจรายละเอียดชง ครม.อีกรอบปลายปี 59 เร่งก่อสร้างในปี 60-61 “ประจิน” หวังเจรจาญี่ปุ่น และจีน ขอปรับใช้ระบบอาณัติสัญญาณยุโรปที่เป็นกลางแทน เพื่อปลดล็อกระบบใช้ทางร่วมลดค่าก่อสร้าง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรางว่า หลังจากได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) และมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม 3 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. 2. คณะทำงานเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม. ซึ่งจะดูแนวเส้นทางรถไฟแม่สอด-มุกดาหารไปด้วย และ 3. คณะทำงานด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนแล้วนั้น ขณะนี้จะเน้นเรื่องรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ซึ่งญี่ปุ่นเสนอใช้เทคโนโลยีรถไฟชินคันเซ็น โดยได้จัดทำแผนการทำงานในช่วง 5 ปีแล้ว และญี่ปุ่นได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนแผนศึกษาเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาความเป็นไปและออกแบบเบื้องต้นไว้ เพื่อความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการส่งออกเทคโนโลยีชินคันเซ็นเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ ภายในเดือน มิ.ย. 2559 จะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติหลักการโครงการ เพื่อลงนามในบันทึกความร่วมมือหรือความเข้าใจระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลต่อไป และภายในปลายปี 2559 จะสามารถเสนอรายละเอียดการศึกษาทั้งหมดต่อ ครม.อีกครั้งเพื่อขออนุมัติโครงการ โดยวางแผนจะเริ่มก่อสร้างอย่างเร็วในปี 2560 หรือปี 2561 เป็นอย่างช้าขึ้นกับการเจรจา ในขณะที่การเวนคืนที่ดินนั้นจะเริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

นายอาคมกล่าวว่า ในวันที่ 24-27 ส.ค. 2558 จะมีการประชุมร่วมกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ของญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ซึ่งการหารือก่อนหน้านี้ทางญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย และเสนอว่า ระบบรถไฟความเร็วสูงจะต้องเป็นทางแยกต่างหาก ไม่ใช้ร่วมกับระบบอื่นๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาช่วงชุมทางบ้านภาชีซึ่งเป็นจุดที่รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นจะมาเจอกับรถไฟ 1.435 เมตรของจีน ซึ่งไทยต้องการให้ใช้ระบบอาณัติสัญญาณที่เป็นมาตรฐานยุโรปซึ่งเป็นมาตรฐานกลาง (Open System) เพื่ออนาคตจะสามารถนำขบวนรถไฟอื่นๆ มาวิ่งในทางเดียวกันได้และใช้ระบบอาณัติสัญญาณร่วมกัน

นอกจากนี้ ในการวางแนวเส้นทาง โดยจะเน้นการพัฒนาสถานีและเมืองตลอดเส้นทางเพื่อทำให้โครงการเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ นอกจากนี้จะต้องพิจารณาการพัฒนาจังหวัดรอบข้างด้วย ทั้งด้านตะวันตก จากพิษณุโลก-สุโขทัย-กำแพงเพชร-แม่สอด (ตาก) และด้านตะวันออก จากพิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น เชื่อมกับรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่-ร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อเป็นโอกาสในการวางแผนการท่องเที่ยวในพื้นที่ แหล่งมรดกโลกของประเทศไทยจะมีตามไปด้วย โดยในเดือน ส.ค.นี้ทีมสำรวจจะนั่งรถไฟเพื่อดูเส้นทางร่วมกันต่อไป

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการสำรวจขั้นต้นของ สนข.พบว่า แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน คือช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ เนื่องจากไม่ได้ก่อสร้างไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-เชียงใหม่) แต่จะเป็นแนวเส้นทางใหม่ จากพิษณุโลก-สุโขทัย-ลำปาง-เชียงใหม่ ซึ่งคณะทำงานศึกษาสำรวจจะพิจารณาความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สถานีเชียงรากน้อยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟ ไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น โดยใช้รถไฟสายสีแดงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งตามแผนการหารือเดิมเส้นทางรถไฟไทย-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) จะมีเส้นทางและรางแยกของตัวเอง ไม่ยุ่งกับรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น แต่ขณะนี้ได้เสนอแนวทางเลือกที่ 2 ซึ่งจะต้องเจรจากับทางญี่ปุ่นให้ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเป็นมาตรฐานสากลแทนชินคันเซ็น ในขณะที่จีนต้องปรับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟราง 1.435 เมตร เป็นมาตรฐานสากลด้วย ซึ่งจะทำให้ 2 โครงการใช้ทางวิ่งร่วมกันได้ ส่งผลต่อค่าก่อสร้างที่จะลดลงได้ ซึ่งต้องรอการเจรจาถึงความเป็นไปได้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น