xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” กางผลสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทย พบเกี่ยวกับบ้านสูงสุด ส่วนค่าอาหาร เครื่องดื่ม แค่ 36%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” โชว์ผลสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทย พบเกือบ 64% เป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านสูงสุด รองลงมาเป็นค่าโดยสาร ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน มือถือ ส่วนค่าอาหารมีสัดส่วน 36% โดยซื้ออาหารมาบริโภคในบ้านเป็นส่วนใหญ่ ยันดูแลค่าครองชีพต่อเนื่อง ทั้งจัดธงฟ้า ผลักดันร้านหนูณิชย์ขายอาหารถูก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการสำรวจค่าใช่จ่ายในการอุปโภคและบริโภคต่อครัวเรือนของไทยในเดือน พ.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายประมาณ 19,279 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน โดยประมาณร้อยละ 63.62 ของการใช้จ่ายทั้งหมด เป็นการจับจ่ายซื้อสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และร้อยละ 36.38 เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ หากแยกรายละเอียดของการจับจ่าย พบว่า ในการใช้จ่ายของครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าอุปโภคถึง 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือร้อยละ 46.81 โดยเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับบ้าน เช่น ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ภายในบ้าน ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รองลงมาร้อยละ 22.75 เป็นค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ถัดไปเป็นค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 6.45% ค่าหนังสือ ค่าเล่าเรียน และค่าสันทนาการ ร้อยละ 5.86 ค่าเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 2.99 บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.50 ตามลำดับ

ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภค พบว่า ครอบครัวไทยยังบริโภคอาหารภายในบ้านมากกว่าคิดเป็นร้อยละ 9.76 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้านคิดเป็นร้อยละ 5.85 รวมทั้งจะเลือกซื้อเนื้อสัตว์ร้อยละ 6.94 ผักและผลไม้ร้อยละ 5.13 ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 3.37 และมีค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อไข่และผลิตภัณฑ์นมคิดเป็นร้อยละ 1.74 ใกล้เคียงกับค่าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.50

นางอภิรดีกล่าวว่า จากการสำรวจค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทย พบว่า ในการดูแลค่าครองชีพเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง แต่กระทรวงพาณิชย์ซึ่งดูแลในด้านราคาสินค้าได้เดินหน้าในการช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดมหกรรมลดค่าครองชีพร่วมกับภาคเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเป็นประจำตามเทศกาล มีการนำโครงการธงฟ้าราคาประหยัดเข้าไปแทรกแซงตามความเหมาะสม และยังได้ร่วมมือกับร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นทั่วประเทศให้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ

สำหรับการดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จ ได้ผลักดันโครงการหนูณิชย์พาชิม ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนร้านค้ามากกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศแล้ว โดยร้านค้าเหล่านี้จะจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จในราคาย่อมเยา 25-35 บาทต่อจาน/ชาม และกำลังจะขยายจำนวนร้านอาหารหนูณิชย์ไปยังพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งยังมีการรณรงค์โครงการ “ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้” เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคคิดก่อนตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น