“อาคม” สั่งทำแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โครงการรถไฟฟ้าตามนโยบาย “นายกฯ” พร้อมประสานกฤษฎีกาเร่งแก้กฎหมายเวนคืน เปิดช่องพัฒนาที่ดินจากเวนคืนได้ ส่วนสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะคาดชง ครม.ใน ส.ค.นี้ ด้าน รฟม.ศึกษา พัฒนาพื้นที่เดปโป้และสถานีสีม่วง เผย BEM มีสิทธิ์ฮุบควบเดินรถ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. ว่า อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาหลังจากที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบการต่อขยายแนวเส้นทางออกไป 5 กม. โดยไปสิ้นสุดที่บริเวณถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน ส.ค. 2559
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เตรียมจะเสนอขออนุมัติโครงการต่างๆ ให้ทำการศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ แผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ประกอบเข้ามาด้วย ส่วนที่ได้รับอนุมัติโครงการไปแล้วให้ทำการศึกษาการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม ขณะเดียวกันเร่งแก้ไข พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างพิจารณา
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำรายละเอียดของสายสีม่วงใต้ด้านตัวเลขเพิ่มเติม เช่น ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) หลังจากที่ได้มีการปรับรูปแบบการก่อสร้างโรงจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณครุใน (บริเวณใต้สะพานกาญจนาภิเษก) โดยลดขนาดให้เป็นอาคารจอดรถ หรือ Stabling Yard ตามนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากวงเงินลงทุนโครงการลดลง พร้อมกันนี้ ให้ รฟม.ทำแผนบริหารจัดการการใช้เดปโป้ร่วมของสายสีม่วงที่บางไผ่ ในกรณีที่ผู้เดินรถสีม่วงใต้เป็นคนละรายกับสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า ในส่วนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ต้องใช้พื้นที่มาก ซึ่งทำให้ต้องมีการเวนคืนที่เผื่อ ซึ่งที่ผ่านมาการเวนคืนพื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้านั้นจะเวนคืนเท่าที่จำเป็น โดยขณะนี้ได้มีการศึกษาการพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติมของสายสีส้มและสายสีม่วงใต้ โดยต้องยอมรับว่าการพัฒนาพื้นที่ของ รฟม.จะต้องศีกษาภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายเวนคืน
***เร่งสรุปพัฒนาเดปโป้บางใหญ่และสถานีสีม่วง จ่อพ่วงสัญญาให้ BEM
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ของศูนย์ซ่อมบำรุงของสายสีม่วงที่บางไผ่นั้น นายพีระยุทธกล่าวว่า รฟม.มีแผนจะพัฒนาพื้นที่ศูนย์ซ่อม โดยจะต้องเสนอ ครม.ขออนุมัติก่อนเนื่องจาก พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ ระบุไว้ว่า หากมูลค่าพัฒนาเกิน 10 ล้านบาทต้องให้ ครม.อนุมัติ ในขณะเดียวกัน รฟม.ได้ศึกษาแนวทางที่เหมาะสม ระหว่างการเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่หรือให้ทางบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รับสัญญาด้านพัฒนาพื้นที่ไปด้วย โดยจะเสนอบอร์ด รฟม.เห็นชอบต่อไป
“ในการปฏิบัติ กรณีผู้เดินรถเป็นคนละรายกับผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เคยมีข้อศึกษาจากรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ใช้คนละราย แต่เป็นปัญหาอุปสรรคในการประสานงาน สุดท้ายบีทีเอสต้องตั้งบริษัทลูกมาทำเชิงพาณิชย์เอง โดย รฟม.จะเร่งศึกษาข้อดีข้อเสียแต่ละแนวทาง เพื่อเสนอบอร์ด รฟม.เลือกแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งหากจะให้ BEM อาจจะต้องแก้ไขสัญญาในการให้สิทธิ์พัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม เป็นต้น” ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุนรวม 101,112 ล้านบาท ลดจากวงเงินเดิมที่ 104,116 ล้านบาท เนื่องจากปรับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า หรือเดปโป้ เป็นที่จอดรถ และให้ไปใช้เดปโป้ที่คลองบางไผ่ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ แทน รวมถึงปรับลดวัสดุอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเพื่อประหยัดเงินลงทุน