“พาณิชย์” จับมือหน่วยงานพันธมิตรบุกตรวจนอมินีภูเก็ต 17 บริษัท พบ 2 คนจีนสวมบัตรประชาชนคนไทยแอบทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เผยจับได้แล้ว 1 ราย อีกรายหลบหนี สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนต่างๆ ของบริษัททันที พร้อมสอบผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ ถ้าพบเพิกถอนบริษัทต่อไป พร้อมระบุไว้ในหมายเหตุบริษัท เตือนคนที่จะไปทำธุรกิจด้วย
นายสาโรจน์ สุวัตถิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กรมสรรพากร และหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบธุรกิจที่อาจมีความเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติในการใช้ตัวแทนอำพราง (นอมินี) จำนวน 17 บริษัท อยู่ในภูเก็ต 15 บริษัท และพังงา 2 บริษัท โดยพบว่ามีคนต่างด้าว 2 คนมาสวมสิทธิ์บัตรประชาชนคนไทย คือ นายวีระชัย คำไผ่ประพันธ์กุล และนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องการการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ล่าสุดได้มีการจับกุมได้แล้ว 1 ราย คือ นายกฤชกร ส่วนนายวีระชัยได้หลบหนีไป
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบคนต่างด้าวทั้ง 2 คนพบว่าเป็นคนจีน มีรายชื่อทำธุรกิจเชื่อมโยงไปมาระหว่าง 17 บริษัท ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตั้งแต่ทำโรงแรม รถขนส่ง รถทัวร์ เรือรับส่งผู้โดยสาร ขายของที่ระลึก และร้านอาหาร โดยได้สวมสิทธิ์บัตรประชาชนของคนเชียงรายเพื่อแอบอ้างว่าเป็นคนไทยแล้วทำธุรกิจสงวนของคนไทย ซึ่งได้มีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว และในส่วนของการสวมบัตรประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังไปตรวจสอบอยู่ว่าทำมาได้อย่างไร
นายสาโรจน์กล่าวว่า การดำเนินการตามกฎหมายของกรมฯ เบื้องต้นได้สั่งการให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนต่างๆ ของทั้ง 17 บริษัทเอาไว้ก่อน เช่น การเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ รวมถึงการจดทะเบียนแก้ไขในทะเบียนอื่นๆ และต่อไปจะเข้าไปตรวจสอบว่าผู้ถือหุ้นและกรรมการที่เหลือในบริษัทมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ ถ้ารู้เห็นมาตั้งแต่ต้น ก็จะทำการเพิกถอนบริษัทต่อไป
“การเพิกถอนบริษัทอาจจะทำไม่ได้ในทันที เพราะต้องตรวจสอบย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้น ต้องตรวจสอบตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ตรวจสอบกับผู้ที่มีรายชื่อถือหุ้นในบริษัท และตรวจสอบกรรมการของบริษัทว่ามีส่วนรู้เห็นหรือไม่ ถ้าพบว่ารู้เห็นเป็นใจมาตั้งแต่ต้น ก็ไม่ยาก สามารถเพิกถอนการจดบริษัทได้ทันที แต่ถ้าไม่รู้เห็นก็อาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ข้อยุติก่อน”
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัททั้ง 17 บริษัทดังกล่าว กรมฯ ได้มีการลงหมายเหตุไว้ในทะเบียนบริษัทแล้วว่าเป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการจดทะเบียนของกรมฯ ขอให้ระมัดระวังในการติดต่อทำธุรกิจ เพราะอาจได้รับความเสียหายได้
นายสาโรจน์กล่าวอีกว่า สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หากตรวจสอบพบว่า คนต่างด้าวประกอบธุรกิจสงวนสำหรับคนไทย ก็จะมีความผิดตามมาตรา 37 โดยมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท และปรับอีกวันละ 1-5 หมื่นบาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน และกรมฯ ยังได้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบการเสียภาษี รวมทั้งได้ประสานให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไปตรวจสอบเส้นทางเงินด้วย