xs
xsm
sm
md
lg

“อภิรดี” ใช้เวที WEF แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมชี้แจงโรดแมป และนโยบายประเทศไทย 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิรดี” ใช้เวที WEF แสดงวิสัยทัศน์ประเทศไทย ในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก พร้อมใช้โอกาสชี้แจงโรดแมปของรัฐบาล และนโยบายในการพัฒนาประเทศไทย 4.0

น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยอาเซียน หรือ World Economic Forum (WEF) on ASEAN ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมเวทีอภิปรายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการลงทุนมาเลเซีย นักวิชาการชั้นแนวหน้าจากมหาวิทยาลัยหนานจิง มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และประธานบริษัทชั้นนำจากฮ่องกง ในหัวข้อ “Battling over Asia's Economic Architecture” หรือ “การต่อสู้กันบนสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย” ซึ่งได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการแข่งขันในเชิงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ บทบาทของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคและผลกระทบต่ออาเซียน ตลอดจนความตกลงและความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น TPP, RCEP และ One Belt One Road ของจีน

สำหรับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ รมว.พาณิชย์ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าเป็นประเด็นที่มีบทบาทสำคัญต่อทั้งไทยและอาเซียน เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างมากในเกือบทุกมิติ และจะเห็นได้ว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจพยายามเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทั้งอาเซียนและไทยตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว

“หลังจากความตกลง TPP ได้ข้อสรุป ไทยได้มีการหารือกันถึงผลของความตกลง TPP ที่จะมีต่อไทย โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนว่ามีผลทั้งในแง่บวกและลบ อย่างไรก็ดี อาเซียนเอง ก็ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับไทย อีกทั้ง 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนก็เป็นสมาชิก TPP ด้วย จึงขึ้นอยู่กับการใช้โอกาสจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว”

นอกจากนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งเห็นว่าควรจะตั้งเป้าหมายให้มีระดับที่ไม่แตกต่างจาก TPP มากนัก เพื่อให้เป็นความตกลงที่มีความหมายอย่างแท้จริง และเกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ

น.ส.ศิรินารถกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยถูกจับตามอง เนื่องจากอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงได้ใช้โอกาสนี้ในการกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามโรดแมปของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวันลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปและการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนในด้านการพัฒนาประเทศ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อยกระดับประเทศจากประเทศที่พึ่งพาการส่งออก หรือ Export-led economy ไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ หรือ Knowledge-based economy ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเกษตรไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่าอาเซียนมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าในระดับภูมิภาคและนอกภูมิภาค โดยการเชื่อมโยงระบบลอจิสติกส์ ซึ่งจะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์-มาเลเซีย-ไทย-ลาว-ยูนนาน กับไทย-พม่า ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังอินเดีย ตลอดจนเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงกับจีนและอินเดียผ่านเส้นทาง One Belt One Road ของจีนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น