ไทย-จีน เดินหน้าพัฒนาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ศก.บรรลุข้อตกลงการค้าการลงทุน 4 ฉบับ เน้นความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค ตอกย้ำทั้ง 2 ฝ่ายจะมีมูลค่าการค้าระหว่างกันภายใน 5 ปี คิดเป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมบันทึกความร่วมมือรถไฟฟ้าไทย-จีน อย่างเป็นทางการ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 5 วันนี้ (9 ธ.ค.) ได้มีการลงนาม 4 ฉบับ คือ 1.เอกสารผลลัพธ์การประชุม JC เศรษฐกิจ ครั้งที่ 5 โดยมีสาระครอบคลุมความร่วมมือด้านต่างๆ คือ ความสอดคล้องของนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและจีน มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยและของจีน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านนวัตกรรม
นอกจากนี้ ไทย และจีนยังมียุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงที่สอดรับกันของจีน คือ One belt one road คู่ไปกับ One belt one ray ภายใต้นโยบาย Internet Plus ส่วนของไทย คือ ยุทธศาสตร์ระบบราง EEC ควบคู่กับยุทธศาสตร์ digital economy transformation รวมถึงการพัฒนาให้ไทยก้าวสู่การเป็น leading Digital Hub หรือ E Hub. ของ ASEAN ที่จะช่วยขับเคลื่อน Thailand 4.0 สองฝ่ายจึงมีเจตนารมณ์ในการพัฒนาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุนเน้นย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ และร่วมกันขยายมูลค่าการค้า 2 ฝ่ายให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ คือ 2 เท่าของมูลค่าการค้าปัจจุบันภายใน 5 ปี (120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563) การต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ระยะ 5 ปี และการจัดทำ Joint Action Plan เน้นความร่วมมือใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (คมนาคม ลอจิสติกส์ EEC) คลัสเตอร์อุตสาหกรรม (10 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย) ดิจิตอล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และพลังงาน โดยใช้ที่ตั้งของไทยอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ ต่อยอดความร่วมมือต่างๆ เชื่อมโยงจีนกับกลุ่มประเทศ CLMV/ASEAN ในการขยายการค้า (สินค้า และบริการ) การลงทุน ผ่านการใช้ประโยชน์จากเส้นทางเส้นทางคมนาคม ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้
ส่วนการขยายการค้าสินค้าเกษตรเร่งรัด และผลักดันความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าสินค้าเกษตร ตลอดจนกระชับความร่วมมือด้านมาตรฐาน และการตรวจสอบสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช อาทิ การเร่งรัดการอนุญาตนำเข้ารังนก และการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าเกษตรด้วย e-Certificate เป็นต้น
ความร่วมมือด้านรถไฟ ผลักดันการดำเนินความร่วมมือด้านรางรถไฟให้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระบบรางระหว่างรัฐบาลไทย กับจีน ซึ่งจะครอบคลุมเส้นทางเดินรถกรุงเทพฯ-หนองคาย ความร่วมมือด้านดิจิตอล ไทย กับจีนจะร่วมมือกันพัฒนาระบบการสื่อสาร ระบบการเชื่อมโยง เคเบิ้ลใต้น้ำ เคเบิ้ลภาคพื้นดินทั้งภายใน และระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมต่อกับจีน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และดิจิตอลให้เติบโตแข็งแรง และผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอล เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ต ความปลอดภัยของข้อมูล และระบบเครือข่ายที่มั่นคงปลอดภัยในด้านเกี่ยวข้องกับ Internet Plus และ Digital Economy ที่จีน กับไทย จะร่วมมือกันประกอบด้วย การร่วมลงทุนยกระดับโครงข่ายเชื่อมโยง internet ความเร็วสูงที่จะช่วยเชี่อมโยงจีน-ไทย-CLMV-ASEAN และภูมิภาคอื่นๆ เพื่อรองรับสนับสนุนการค้าขายการลงทุน และความเชื่อมโยงต่างๆ ในโลกยุคดิจิตอล
นอกจากนี้ ยังรวมถึงความร่วมมืออื่นๆ เช่น การเชื่อมโยง e-commerce platforms การพัฒนาด้านบุคลากร เช่น SME และ startups ไทย/จีน เพื่อให้มี digital skills รองรับ digital economy และสามารถเข้าถึง global E commerce systems ได้
ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมและความร่วมมือด้านอวกาศ ส่งเสริมให้จีนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้าน STI ของไทย ได้แก่ การพัฒนาศูนย์บ่มเพาะ Startup ในสถาบันการศึกษา เน้นหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจ ตลอดจนการหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความร่วมมือด้านอวกาศและดาวเทียม ความร่วมมือด้านการเงิน ส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินหยวน ตลอดจนการสนับสนุนเงินทุนจากสถาบันการเงินของจีน ในโครงการความร่วมมือต่างๆ
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังยินดีที่หน่วยงานของทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือถึงความเป็นไปได้ในการให้มีกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน (หยวน-บาท) ได้โดยตรง (Direct Quotation) เพิ่มจากที่มีอยู่แล้วในมณฑลยูนนาน
ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว กระชับความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว โดยไทยเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เห็นควรร่วมกันพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ตลาดใหม่ สินค้าและบริการใหม่ เพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการท่องเที่ยวในศตวรรษที่ 21 โดยใช้ดิจิตอลเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย-จีน อาทิ การสร้างฐานข้อมูลด้วย Big Data/Cloud e-visa Tax Refund ควรมีความร่วมมือด้านการชำระเงินที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ E-Payment ผ่าน AliPay และ WechatPay เป็นต้น และด้านพลังงาน ผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และการลงทุนจากจีน ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานขยะ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล เป็นต้น
ความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ผลักดันการใช้ประโยชน์จากกลไกการหารือระหว่างไทย-มณฑลสำคัญของจีน และการดำเนินความร่วมมือ 5 สาขา ภายใต้ Joint Action Plan ในระดับมณฑล การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว และเร่งรัดการเจรจาประเด็นคงค้างภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อาทิ การเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม เป็นต้น
2. พิธีสารว่าด้วยการต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี และการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลจีน ระหว่างนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางเกา เยี่ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2555-2559) ครอบคลุมสาขาความร่วมมือ 14 สาขา ได้แก่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเอกสารหลักในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีน ที่มีสารัตถะครอบคลุมสาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ซึ่งร่างเอกสารต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ระยะ 5 ปี จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศที่เป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ เพื่อให้การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจมีความสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของสองประเทศ และสะท้อนการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน 2 ฝ่ายเห็นพ้องให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมที่มุ่งเน้นความร่วมมือเชิงลึกในสาขาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road ของจีน และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของไทย โดยเน้นสาขาความร่วมมือนำร่องภายใต้แผนฯ 5 ปี จำนวน 5 สาขา ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐาน 2.การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 3.เทคโนโลยีสารสนเทศ/ดิจิตอล 4.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 5.พลังงานโดยแผนปฏิบัติการร่วมฯ นี้จะถูกผนวกเข้ากับพิธีสารว่าด้วยการต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ระยะ 5 ปี
3.บันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ว่าด้วยการกระชับความความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของไทยปี 2559-2565 ระหว่าง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เพื่อเป็นการยืนยันความร่วมมือในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างไทย-จีน ซึ่งบันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าวยังอยู่ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2665 ลงนามเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 และกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยปี 2558-2565 ลงนามเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559
ทั้งนี้ สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือฯ คือ 1.ความร่วมมือจะเป็นโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานสายแรกของประเทศไทยเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ 2.โครงการรถไฟจะดำเนินการเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ช่วงที่ 2 แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย 3.ทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันความร่วมมือที่จะดำเนินโครงการรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย และเห็นชอบร่วมกันว่า ให้เริ่มโครงการลำดับแรกเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ส่วนโครงการลำดับที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย จะมีการหารือทันทีหลังการลงนามสัญญาของโครงการลำดับแรก โดยจะดำเนินการร่างสัญญาให้เสร็จต้นปี 2560 4.จะเริ่มการก่อสร้างโครงการเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ต้นปี 2560 และจะดำเนินการเตรียมรายละเอียดของงานสำหรับโครงการเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย เป็นลำดับต่อไป
และ 4. ความร่วมมือทางเทคนิคด้านระบบใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรระหว่างไทย และจีน โดย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนาม กับ Mr. Chen Gang รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์พัฒนา และเชื่อมโยงระบบใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาใบรับรองปลอม และอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีการส่งออก และนำเข้าสินค้าเกษตรระหว่างกันปริมาณมาก โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการกำหนดสินค้าเป้าหมาย พัฒนาระบบ และทดลองระบบ เพื่อเชื่อมโยงกัน และนำไปสู่การค้าไร้กระดาษในอนาคต