xs
xsm
sm
md
lg

11 คุณลักษณะของคนไทย 4.0 ที่ต้องปฏิรูปจะช่วยให้ Thailand 4.0 เป็นความจริง (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

(แฟ้มภาพ)
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/


ประเทศไทยกำลังพยายามมุ่งหน้าพัฒนาประเทศด้วย Thailand 4.0 ซึ่งมีจุดเน้นที่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) เศรษฐกิจที่เน้นความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) ทั้งหมดนี้เน้นนวัตกรรม การสร้างสรรคุณค่าและสิ่งที่แปลกใหม่ที่นำไปสู่ธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืน เป็นความพยายามในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากการรับจ้างผลิต เศรษฐกิจที่เน้นแรงงาน (Labor-intensive economy) และการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income trap) มายาวนานนับสิบปีจนปล่อยให้มาเลเซียแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว และเวียดนามกำลังจะแซงหน้าไปในอีกไม่นานนี้

คุณลักษณะของคนไทยประการใดบ้างที่จะเอื้อให้ Thailand 4.0 หรือ อีกนัยหนึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจที่เน้นความรู้เป็นฐาน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้มีอะไรบ้างมาลองพิเคราะห์กัน

ประการแรก ความแตกฉานด้านข้อมูลและสถิติ (Data Literacy and statistical literacy) ความแตกฉานด้านข้อมูลคือความสามารถในการตอบคำถามต่างๆ โดยใช้ข้อมูลเป็นหลักฐานในการอ้างอิงแนวคิด สามารถเลือกใช้ข้อมูล เครื่องมือ และเครื่องหมาย/สัญลักษณ์แทน ในการสนับสนุนแนวคิดนั้นได้อย่างเหมาะสม และสามารถนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาในชีวิตจริงโดยอาศัยข้อมูลต่างๆ ได้ ส่วนความแตกฉานด้านสถิติคือความเข้าใจในภาษาสถิติ ได้แก่ คำ สัญลักษณ์ และข้อกำหนดต่างๆ ความสามารถในการตีความกราฟและตาราง รวมทั้งการอ่านและหาความสมเหตุสมผลทางสถิติในข่าว สื่อ และผลสำรวจ (POLL) ต่างๆ

ทั้งสองทักษะนี้จำเป็นมากสำหรับการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากโลกในปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลและสถิติมีข้อมูลขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา จากทั้งโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ จาก Biosensor จาก Internet of Things (IoTs) จากสื่อสังคมและอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ข้อมูลมีความหลายหลาย (Variety) มีความรวดเร็ว (Velocity) และมีปริมาณมหาศาล (Volume) การที่จะก้าวเข้าไปสู่ Digital Economy ได้นั้นจำเป็นเหลือเกินที่ต้องมีความแตกฉานทางสถิติและข้อมูล เพื่อใช้ในการค้นคว้าหาคำตอบ ต้องตรวจสอบคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูล (Veracity) ได้ ต้องสรุปผลสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปต่อยอดและใช้งานได้จริงจากข้อมูล แต่น่าเสียดายยิ่งที่ผลการประเมินของ PISA ในส่วนความรู้ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งได้รวมถึงความแตกฉานด้านข้อมูล (DATA LITERACY) สถิติ (STATISTICAL LITERACY) เข้าไว้ด้วยกันแล้วนั้น ประเทศไทยมีระดับคะแนนเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ทั้งนี้การสำรวจ PISA ในปี 2012 พบว่า

1) นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ 427 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD อยู่ถึงเกือบหนึ่งระดับ ซึ่งเทียบเท่าการเรียนคณิตศาสตร์ที่ต่างกันประมาณหนึ่งปีครึ่ง
2) ตามค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนนานาชาติมีผลการประเมินเป็นระดับเฉลี่ยที่ระดับ 3 ส่วนนักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2
3) นักเรียนไทยจำนวนครึ่งหนึ่งแสดงว่ารู้คณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน (ระดับ 2)
4) มีนักเรียนเพียงหนึ่งในห้าที่รู้คณิตศาสตร์สูงกว่าระดับพื้นฐาน (ที่ระดับ 3 ขึ้นไป)
5) มีนักเรียนเพียง 2.5% รู้คณิตศาสตร์ถึงระดับสูง (ระดับ 5 และระดับ 6) แต่เกือบไม่มีนักเรียน (0.5%) ที่ขึ้นถึงระดับสูงสุด (ระดับ 6)
6) นักเรียนไทยประมาณหนึ่งในห้ามีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มต่ำสุดไม่ถึงแม้แต่ระดับ 1 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากเกินไป ในขณะที่ประเทศเอเชียอื่นๆ มีนักเรียนได้คะแนนในกลุ่มต่ำสุดน้อยมาก เช่น เซี่ยงไฮ้-จีน (0.8%) สิงคโปร์ (2.2%) ฮ่องกง-จีน (2.6%) เกาหลี (2.7%) และญี่ปุ่น (3.2%) [1]

ประการที่สอง ความแตกฉานด้านการเงิน (Financial literacy) ซึ่ง OECD ได้นิยามว่าคือความรู้และความเข้าใจแนวความคิดที่เกี่ยวกับการเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงทักษะ แรงจูงใจ และความเชื่อมั่นที่จะใช้ความรู้และความเข้าใจเหล่านี้ในการตัดสินใจที่มีประสิทธิผล ในหลากหลายบริบททางการเงิน เพื่อปรับปรุงความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของปัจเจกและสังคม และช่วยให้สามารถมีส่วนร่วมในชีวิตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ความแตกฉานด้านการเงินไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะสำหรับในทางเศรษฐกิจ การจะเป็น digital economy หรือ creative economy ได้ก็ต้องใช้เงิน ต้องวางแผนการเงินเป็นและบริหารการเงินเป็น นอกจากนี้การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัวต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดีเพื่อให้พร้อมรับภาระการเกษียณไม่มีรายได้ต้องใช้บำนาญ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความเจ็บป่วย การประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นพบว่ากองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะล่มสลาย โปรดอ่านได้ใน เหตุใด “กองทุนประกันสังคม” จึงมีโอกาสล่มสลายสูงมาก? ในขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนย่อยยับและไม่สามารถจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน โปรดอ่านได้ใน 1.3% หรือ 4% ของ GDP สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นภาระทางการคลังจริงหรือ? ทำให้ความแตกฉานด้านการเงินจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่จะทำให้ Thailand 4.0 ประสบความสำเร็จและบรรเทาปัญหาสังคมผู้สูงอายุลงไปได้หากประชาชนมีความแตกฉานด้านการเงินเพียงพอและมีการวางแผนทางการเงินก่อนเกษียณและ/หรือ เจ็บป่วยเป็นอย่างดีเป็นส่วนใหญ่

แต่ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2556 พบว่า คนไทยมีคะแนนทักษะทางการเงินเฉลี่ย 12.9 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 58.5 ของคะแนนเต็ม 22 คะแนน ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 14 ประเทศที่ร่วมโครงการสำรวจของ OECD ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.7 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และมีอันดับการตอบถูกในแต่ละคำถามด้านความรู้ทางการเงินค่อนไปอันดับท้ายๆ เมื่อเปรียบเทียบคะแนนองค์ประกอบทั้งสามด้าน พบว่า คนไทยด้อยด้านความรู้ทางการเงิน โดยมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็ม และมีคนไทยมากกว่าร้อยละ 30 ที่มีคะแนนความรู้ทางการเงินอยู่ ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งน่าจะมีการปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาอย่างเร่งด่วน โปรดอ่านได้ใน ถึงเวลาปฏิรูปการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งควรให้นักเรียนได้เรียนการเงินส่วนบุคคลซึ่งใกล้ตัวและน่าจะได้ใช้จริงช่วยเพิ่มความแตกฉานด้านการเงินได้มากกว่า

ประการที่สาม ความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical literacy) ในต่างประเทศนั้นมีคำกล่าวว่า “The more mathematics you know, the more you get paid” งานที่ได้เงินดีเป็นงานที่ต้องใช้ความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์สูง ทั้งนี้คณิตศาสตร์เป็นกุญแจสำหรับไขความลับ สร้างความรู้ และศึกษาหาความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี หรือแม้แต่สังคมศาสตร์ เช่น บริหารธุรกิจ หรือบริหารรัฐกิจก็ตาม ดังนั้นหากจะประสบความสำเร็จสำหรับนโยบาย Thailand 4.0 คือคนไทยต้องมีความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์

แต่ปัญหาคือผลการประเมินความแตกฉานด้านคณิตศาสตร์เช่น PISA ของไทย ได้คะแนนน้อยมาก (ผลการสอบ PISA ปี 2015 เด็กไทยอยู่อันดับที่ 55 : ปฏิรูปการศึกษาด้วยพุทธธรรม) ทำให้น่าเป็นห่วงว่าศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยจะอยู่ที่ไหน

ประเด็นที่น่าสนใจคือข้อสอบ PISA ของ OECD แบ่งวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมออกเป็นสามส่วน

1) การคิดให้เป็นคณิตศาสตร์ (FORMULATING SITUATIONS MATHEMATICALLY) คือ การทำสถานการณ์ในโลกชีวิตจริงให้เป็นสถานการณ์เชิงคณิตศาสตร์ ร้อยละ 25

2) การใช้หลักการทางคณิตศาสตร์คณิตศาสตร์ (EMPLOYING MATHEMATICAL CONCEPTS, FACTS, PROCEDURES AND REASONING) คือ การใช้กรอบความคิดทางคณิตศาสตร์ ข้อเท็จจริง วิธีทำ และการใช้ความเป็นเหตุเป็นผล ร้อยละ 50 และ

3) การตีความและแปลความ การประยุกต์ และการประเมินผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์ (INTERPRETING, APPLYING AND EVALUATING MATHEMATICAL OUTCOMES) ร้อยละ 25

จะเห็นได้ว่า PISA เน้นไปที่ การใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ การให้เห็นผล การใช้กรอบความคิดมากกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของไทยเน้นการคิดคำนวณได้ การคิดให้เป็นคณิตศาสตร์ ซึ่ง PISA ไม่ได้เน้นมากนัก เป็นประเด็นที่เราควรให้ความสนใจในการพัฒนาคณิตศาสตร์ศึกษาในประเทศไทย

ประการที่สี่ ทักษะในการเขียนโปรแกรม (Programming skills) การจะเข้าสู่ Digital Economy ได้นั้นต้องมีบุคลากรที่มีทักษะในการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีทักษะพอที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพได้ อันที่จริงประเทศไทยมีการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ จบออกมาระดับปริญญาตรีปีละมากมาย แต่ผู้ประกอบการแทบทุกรายต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่ามีปัญหาคุณภาพ เพราะบัณฑิตที่จบออกมาทำงานจริงไม่ได้เลย

Steve Jobs ได้กล่าวว่า “Everybody in this country should learn to program a computer, because it teaches you how to think” แปลได้ว่า “ทุกคนในประเทศนี้ควรต้องเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะว่ามันจะสอนคุณให้รู้จักวิธิคิด” ผมเองก็เห็นด้วย เพราะการเขียนโปรแกรมต้องคิดวิเคราะห์เป็นระบบมาก และผมมีความเชื่อว่าควรสอนเขียนโปรแกรมให้นักเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นหรือประถมศึกษาตอนปลาย เพราะการเขียนโปรแกรมเป็นการเรียนรู้ภาษาน่าจะฝึกหัดให้คุ้นชินค่อยๆ เรียนไปตั้งแต่เมื่อยังเล็ก ในต่างประเทศก็เริ่มมีการสอนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ชั้นประถมศึกษากันบ้างแล้ว ในประเทศไทยนักเรียนเริ่มมีการเรียนภาษาไพธอน (Python language programming) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกันบ้าง อันที่จริงเราน่าจะสามารถสอนเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในวิชาคณิตศาสตร์ให้ขนานคู่กันไปด้วยซ้ำ ถ้าประเทศไทยไม่พัฒนาการศึกษาไทยให้คนที่สำเร็จการศึกษามีทักษะในการเขียนโปรแกรม อย่างแท้จริงแล้ว ก็จะเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่เราจะพัฒนา Digital Economy และ Knowledge-based economy ได้

สัปดาห์หน้ามาพูดกันต่อถึงเรื่องคุณลักษณะที่จำเป็นของคนไทยในการพัฒนาประเทศด้วย Thailand 4.0 กันต่อครับ

หมายเหตุ :
[1] https://businessanalyticsnida.wordpress.com/2016/10/05/content-analysis-math-high-school/

กำลังโหลดความคิดเห็น