xs
xsm
sm
md
lg

กพช.เคาะ 2 แนวทาง SPP หมดสัญญา-อนุมัติ ปตท.ลงทุนคลัง LNG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กพช.” เคาะแนวทางแก้ไขปัญหา SPP ที่จะสิ้นสุดสัญญาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม พร้อมอนุมัติให้ ปตท.ลงทุนขยายกำลังการผลิตแอลเอ็นจี และสร้างคลังแอลเอ็นจีแห่งใหม่ที่ จ.ระยอง เงินลงทุนรวมกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท พร้อมอนุมัติ กฟผ.ศึกษาทำคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำหรือ FSRU 5 หมื่นล้านตันต่อปีภายใน 3 เดือน


นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เปิดเผยว่า ที่ปะชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (30 พ.ค.) เห็นชอบแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในนิคมอุตสาหกรรม หรือ SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2560-2568 ดังนี้

1) กลุ่มที่ 1 : SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560-2561 (ต่ออายุสัญญา) ให้มีระยะเวลาสัญญา 3 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 MW และไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า (ณ ราคาก๊าซ 263 บาท/MMBTU) ในอัตรา 2.3753 บาท/kWh

2) กลุ่มที่ 2 : SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562-2568 (ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) ให้มีระยะเวลาสัญญา 25 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 30 MW และไม่เกินร้อยละ 30 ของกำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมไอน้ำ (Net Generation) ไฟฟ้ารวมไอน้ำ และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า ในอัตรา 2.8186 บาท/kWh (ที่ราคาก๊าซธรรมชาติ 263 บาท/ล้านบีทียู) ทั้งนี้ โครงการ SPP-Cogeneration ที่ได้รับสิทธิการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้ดำเนินการก่อสร้างได้ในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม

โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตามแนวทางฯ ข้างต้น รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงรูปแบบสัญญา Firm ของ SPP-Cogeneration กลุ่มนี้ให้สามารถลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การขอลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบล่วงหน้า พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับ IPP และ SPP ตลอดจนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำรองให้มีความเหมาะสม รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการศึกษา SPP-Power Pool เพื่อรองรับกลไกการประมูลรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราส่วนลดพิเศษในอนาคต

นอกจากนี้ กพช.ยังอนุมัติให้ บมจ.ปตท.ดำเนินโครงการขยายกำลังการแปรสภาพแอลเอ็นจีเพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชะลอไปจากแผนโดยเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านตัน รวมเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้เสร็จปี 2562 นอกจากนี้ยังกำหนดให้ ปตท.ลงทุนสร้างคลังแอลเอ็นจีแห่งใหม่ที่ จ.ระยอง 5 ล้านตันต่อปี ลงทุน 36,800 ล้านบาท ให้เสร็จในปี 2565 แต่ทั้งนี้ได้ให้ศึกษาเพิ่มเติมว่าขนาดควรเพิ่มเป็น 7.5 ล้านตันประกอบด้วย พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) พื้นที่อ่าวไทยตอนบนปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ พระนครเหนือ รวมถึงจัดส่งก๊าซฯ เข้าสู่โครงข่ายท่อฯ โดยให้เวลาพิจารณา 3 เดือนครึ่ง

กพช.ยังเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ที่ขอให้ กฟผ.ใช้น้ำมันปาล์มดิบทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่เพิ่มมากขึ้น เป็นเดือนละ 10,000 ตัน โดยดำเนินการ 8 เดือนติดต่อกัน โดย ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า Ft

นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซล เป็น 14 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) และเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับรถยนต์ชนิดต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ประชุม กพช.ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล โดยให้ดำเนินการผลิตไบโอดีเซลที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพแล้วในเชิงพาณิชย์ พร้อมนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ในรถของหน่วยงานราชการ ทหาร เอกชน ก่อนผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรมภายในเดือนพฤษภาคม 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น