“โซล่าร์ ดี” เร่งขยายตลาดโซลาร์ เซลล์ โหนกระแส “รักษ์โลก” เผยตลาดบ้านพักอาศัยชะงัก เหตุรัฐบาลยุติโครงการรับซื้อไฟฟ้า ส่วนตลาดโรงงาน อาคารสำนักงานมาแรง หลังความต้องการใช้พุ่ง ชี้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ขณะราคาโซลาร์ เซลล์ถูกลง ตัวแปรหลักขับเคลื่อนธุรกิจเติบโต
จากสถานการณ์วิกฤติด้านพลังงานของโลก ทรัพยากรธรรมชาติลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมัน ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าลดน้อยลงเรื่อยๆ หลายประเทศตื่นตัว และเริ่มจัดหาพลังงานทดแทนมาใช้แทนพลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เริ่มตื่นตัวกับประเด็นดังกล่าว จึงส่งผลให้ธุรกิจโซลาร์ เซลล์ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่าร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดโซลาร์ เซลล์ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาถูกลงประมาณ 60-70% หากเทียบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าราคาจะลดลงอีก แต่จะลดลงในสัดส่วนไม่มากนัก เนื่องจากความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์มีมากขึ้นจากค่าไฟฟ้าที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงนโยบายรับซื้อไฟฟ้าของรัฐบาลที่คาดว่าอาจจะมีการเปิดรับซื้ออีก จึงจะทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์ ในวงกว้างขึ้น
“แม้ว่ารัฐบาลจะยุติโครงการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์ เซลล์ไปแล้ว แต่ความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน กลับมีแนวโน้มที่ตลาดจะเติบโตขึ้นด้วย เพราะราคาแผงโซลาร์ เซลล์ อาจจะลดลง อีกทั้งค่าไฟฟ้าจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงพีค ทำให้ความต้องการโซลาร์ เซลล์ มีเพิ่มขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีหลายวิธีแต่เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเป็นที่นิยมและราคาไม่สูงจนเกินไปคือการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง (Photovoltaicconversion)โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์(SolarCell)มาตั้งไว้ในจุดที่สามารถรับแสงอาทิตย์ได้ดีเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงเซลล์รับแสงก็จะเกิดกระบวนการเปลี่ยนให้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งวิธีการนี้เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น โซลาร์เซลล์ที่อยู่ในเครื่องคิดเลข ฟาร์มโซลาร์เซลล์และการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในบ้าน เป็นต้น
ในส่วนของโซล่าร์ ดี นั้น เน้นทำตลาดแผงโซลาร์ เซลล์ ทั้งที่พักอาศัย บ้านจัดสรร โรงงาน และอาคารสำนักงาน โดยที่ผ่านมา ตลาดที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้รับอานิสงส์จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากรัฐบาล ซึ่งบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์ 15 ตารางเมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2.7 กิโลวัตต์ ใช้เงินลงทุนเพียง 239,000 บาท จะมีรายได้ 27,000 บาทต่อปี สามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 9 ปี เท่านั้น ขณะที่แผงโซลาร์ เซลล์ มีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี และรัฐบาลก็รับซื้อไฟฟ้านาน 25 ปี เช่นเดียวกัน ส่วนที่เหลืออีก 16 ปี จะสร้างรายได้ให้กับเจ้าของบ้านตลอดอายุการใช้งาน
สำหรับที่พักอาศัยที่มีพื้นที่ 54 ตารางเมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 10 กิโลวัตต์ ใช้เงินลงทุน 720,000 บาท จะมีรายได้เดือนละ 8,288 บาท คิดเป็นรายได้ต่อปี 99,500 บาท จะมีระยะเวลาคืนทุนเพียง 8-9 ปีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมีแสงแดดมากหรือน้อย พื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์ หันไปในทิศใด
“การไฟฟ้าฯรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนหน่วยละ 6.85 บาท ขณะที่ขายไฟให้ประชาชนเพียงหน่วยละ 4.7 บาท ทำให้ประชาชนไม่เก็บไฟไว้ใช้เอง แต่ในอนาคต หากค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ประชาชนอาจจะหันมาผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้เองแทนการขายไฟฟ้าให้ภาครัฐก็ได้”
ทั้งนี้ ราคาค่าเชื้อเพลิงที่ได้จากฟอสซิลจะสูงขึ้น และกระแสต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ เซลล์ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานที่เสถียรและกระบวนการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ไร้มลภาวะ
อย่างไรก็ตาม หากราคาเชื้อเพลิงที่ได้จากฟอสซิลมีราคาต่ำลง แม้จะไม่มีการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนจากภาครัฐ แต่ความต้องการโซลาร์ เซลล์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตโซลาร์ เซลล์ มีราคาลดลงด้วย
สำหรับแผงโซลาร์ เซลล์ที่ติดตั้งในโรงงานหรืออาคารสำนักงานนั้น ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อใช้เอง เพราะในโรงงานและอาคารสำนักงานใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางวัน ซึ่งสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตไปใช้ได้ทันที ทำให้ความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์มีมากขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้าได้ทันที ที่สำคัญยังทำให้ภาพลักษณ์องค์กรดีด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อน และทำธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม เพื่อส่งขายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและประชาชนทั่วไปในเขตเมืองและชนบทที่นำแผงโซล่าร์เซลล์มาใช้ เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในครัวเรือนรวมถึงการนำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ไปใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ