“ร.ฟ.ท.” ประสานมหาดไทย สำรวจทางลักผ่านที่มีความเสี่ยง ก่อนเสนอข้อมูล “นายกฯ“ ออกคำสั่งปิด ชี้เป็นการแก้ปัญหาอุบัติเหตุและความสูญเสีย “วุฒิชาติ” เผยสั่งนายสถานีรถไฟทั่วประเทศสำรวจจุดตัดที่ล่อแหลมเพื่อบูรณาการขอความร่วมมือประชาชนตระหนักถึงอันตราย ทางลักผ่านทางรถไฟ ขณะที่ระดมงบกลางปีและเหลือจ่ายกว่า 500 ล้าน เร่งติดตั้งเครื่องกั้นที่เหลืออีก 160 แห่งให้ครบภายในสิ้นปี 59
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังพาสื่อมวลชนลงพื้นที่จุดตัดทางรถไฟบริเวณสถานีลาดกระบังว่า แนวทางการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดรถไฟในขณะนี้นอกจากเร่งดำเนินการติดตั้งติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติและสัญญาณไฟเตือนตามมาตรฐานแล้วจะต้องขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมา อุบัติเหตุจุดตัดรถไฟได้สร้างความเสียหายมามากพอแล้ว ร.ฟ.ท.จะต้องหาทำทุกวิถีทางเพื่อยุติความสูญเสีย โดยได้ประชุมนายสถานีรถไฟกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ให้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และตรวจสอบจุดตัดที่ล่อแหลม มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ และรายงานข้อมูลภายใน 7 วัน โดยเน้นสร้างรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนว่าจุดตัดและทางลักผ่านจะกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินรถไฟ หากไม่ระมัดระวังจะมีความสูญเสียเกิดขึ้น แต่หากประชาชนยืนยันจำเป็นต้องใช้ทางตัดผ่าน ต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกัน
“จุดตัดที่ลาดกระบังเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ยอมให้ปิดทางตามข้อตกลง หลังจากที่กรมทางหลวง (ทล.) ได้ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟยกระดับความปลอดภัยสูงสุดให้แล้ว เมื่อไม่ยอมให้ปิด ร.ฟ.ท.จำเป็นต้องจัดเจ้าหน้าที่ดูแลแผงกั้นถนนเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นการแก้ปัญหาร่วมกัน”
พร้อมกันนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อขอปิดจุดตัดทางรถไฟที่มีความเสี่ยงเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ โดยข้อมูลจากการสำรวจพบมีจุดตัดทางรถไฟทั่วประเทศประมาณ 2,624 แห่ง เป็นจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 1,935 แห่ง และไม่ได้รับอนุญาต หรือทางลักผ่าน 689 แห่ง ซึ่งได้ประชุมร่วมกับนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้ทำหนังสือสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการ ตรวจสอบ โดยหากพบว่าจุดตัดทางรถไฟบริเวณใดยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง ร.ฟ.ท.จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาปิดทางลักผ่านบริเวณนั้นทันทีโดยจะมีการจัดหาเส้นทางสัญจรใหม่ที่ปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้เดินทางแทน
สำหรับการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ สัญญาณไฟ จุดตัด 2,624 แห่ง ทั่วประเทศจะเร่งรัดให้เสร็จภายในสิ้นปี 2559 จากเดิมจะเสร็จปี 2560 โดยได้ขอใช้งบเหลือจ่ายและงบกลางปี 2559 ประมาณ 500 ล้านบาทมาดำเนินการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ 160 แห่ง และติดตั้งระบบ Sensor ก่อนถึงจุดตัดรถไฟที่ไม่ได้ขออนุญาตอีก 200 แห่ง นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายว่าเครื่องกั้นอัตโนมัติที่สร้างเสร็จแล้วและทดสอบระบบแล้ว ให้ใช้งานทันทีไม่ต้องรอการตรวจรับมอบ