xs
xsm
sm
md
lg

“รมช.มหาดไทย” รุดตรวจภัยแล้งโคราช ประกาศภัยพิบัติเพิ่ม 11 อำเภอ พืชเกษตรสูญ 3.9 แสนไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทยพร้อมคณะ ลงพื้นที่ประชุมมอบนโยบายและติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ของ จ.นครราชสีมา ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจ.นครราชสีมา วันนี้ ( 24 มี.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “สุธี” รมช.มหาดไทย รุดตรวจติดตามภัยแล้งโคราช ยันน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอแน่นอน ล่าสุดประกาศภัยพิบัติแล้ง 11 อำเภอ 62 ตำบล 624 หมู่บ้านเดือดร้อน พืชเกษตรเสียหาย 3.9 แสนไร่

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (24 มี.ค.) ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ประชุมมอบนโยบายและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.นครราชสีมาให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 และจังหวัด, สำนักชลประทานที่ 8 ชลประทานจังหวัด, โครงการบำรุงและรักษาลำตะคอง, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, การประปาส่วนภูมิภาค, ผู้บริหารเทศบาลนครนครราชสีมา

โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนายอำเภอ 32 อำเภอ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อมาติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะน้ำใช้อุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และให้กำลังใจเพื่อนข้าราชการทุกฝ่ายที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการทั้ง 32 อำเภอที่ต้องดูแลพี่น้องประชาชนมากขึ้น และที่กังวลมากคือต้องดูน้ำอุปโภค บริโภค การแจกจ่ายน้ำให้เพียงพออย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะไม่อยากให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนหรือเดือดร้อนน้อยที่สุด

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งวางใจได้แค่ไหนอย่างไรนั้น ในส่วนน้ำอุปโภคบริโภค นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กับทีมงานทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน ได้มีการวางแผนไว้ดีจากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทำงานอย่างสอดคล้องต่อเนื่องกันมา ฉะนั้นน้ำอุปโภค บริโภคมั่นใจว่าจะรับมือได้อย่างสมบูรณ์ เพราะผู้บริหารมีการเตรียมการทั้งในส่วนของสำนักชลประทานที่ 8, ชลประทานจังหวัด, เขื่อนลำตะคอง, เขื่อนลำแชะ ทำให้มีเพียงพอ ซึ่งเป็นการทำงานกันแบบประชารัฐจริงๆ จึงต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ของเราทุกฝ่ายที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน

ส่วนเรื่องการห้ามใช้น้ำเล่นสงกรานต์หรือใช้แบบประหยัดนั้น คงเป็นเรื่องมาตรการของการประหยัดน้ำที่พวกเราต้องดูแลมากยิ่งขึ้น แน่นอนขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่เราต้องดำเนินการเป็นปกติ เพียงแต่ว่าเราประหยัดน้ำอย่างไร

ทั้งนี้ ล่าสุด จ.นครราชสีมาได้ประกาศการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งเพิ่มรวมเป็น 11 อำเภอ ความเสียหายที่สำรวจแล้วจำนวน 62 ตำบล 624 หมู่บ้าน 60,145 ครัวเรือน มีพื้นที่เกษตรเสียหายรวม 393,672 ไร่ แยกเป็นพืชไร่ 13,648 ไร่, นาข้าว 380,003 ไร่ และพืชสวน 26 ไร่

ด้านแหล่งน้ำได้มีการจัดทำสร้างฝายแล้ว 170 แห่ง เก็บน้ำได้ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และอำเภอต่างๆ ยังมีการสร้างเพิ่มเติมรวม 182 แห่ง เพื่อเร่งสูบน้ำไปสำรองไว้ใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้ง และสำรองไว้ในแหล่งกักเก็บให้เต็มความจุ ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งได้มีการสูบน้ำเพื่อกักเก็บในแหล่งน้ำสำรองและให้ความช่วยเหลือในการแจกจ่ายน้ำให้แก่ราษฎรอย่างต่อเนื่อง



กำลังโหลดความคิดเห็น