xs
xsm
sm
md
lg

26 ปท.ร่วมหารือลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ชมภูเก็ตซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รมช.มหาดไทย เปิดประชุมว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 ที่จังหวัดภูเก็ต มี 26 ประเทศสมาชิกศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชีย และผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ในเอเชีย พร้อมชื่นชมภูเก็ตมีการฝึกซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติมากสุด

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่โรงแรมดวงจิต รีสอร์ท ภูเก็ต ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งเอเชีย ประจำปี พ.ศ.2559 ภายใต้หัวข้อหลัก “บทเรียนจากอดีต การใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างเอเชียที่เข้มแข็งต่อยอดจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชีย 26 ประเทศ รวมถึงผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากต่างประเทศเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมมีการกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับบทเรียนจากแผ่นดินไหว และการฟื้นฟูของประเทศเนปาล การฟื้นฟูบูรณะจากสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย โดยประเทศไทย อีกทั้งจะมีการประชุมในหัวข้อย่อยต่างๆ เช่น มาตรการด้านนโยบายเพื่อการมีชีวิตรอดจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ (สึนามิ แผ่นดินไหว อุทกภัย ภูเขาไฟระเบิด) การเสริมสร้างศักยภาพด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยการพัฒนาด้านการฝึกอบรม และการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (CBDRM) เพื่อขับเคลื่อนกลไกการจัดการภัยพิบัติของประเทศสมาชิกศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชียให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการและลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยในการจัดการ และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขับเคลื่อนความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับเอเชีย ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Reduction Center : ADCR) ได้ร่วมกับ ADCR และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดให้มีการประชุมว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งเอเชีย ประจำปี พ.ศ.2559 ขึ้น ระหว่างวันที่ 25-26 ก.พ.2559 ที่จังหวัดภูเก็ต

สำหรับหลักสำคัญของประชุมในวันนี้ คือ ทำอย่างไรจึงจะลดการสูญเสียจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยพิบัติขนาดใหญ่ เช่นในปี พ.ศ.2547 มี 6 กลุ่มจังหวัดอันดามัน ได้รับความสูญเสียจากภัยสึนามิกว่า 8,000 คน โดยเฉพาะจังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต ในวันนี้ มีผู้ว่าฯ ทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวมาร่วมประชุมด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมลดอุบัติเหตุและภัยพิบัติ ซึ่งอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่รณรงค์อยู่ตลอดทั้งปี ขณะที่ภัยพิบัติแม้จะมีจุดอ่อนในบางเรื่องก็พยายามแก้ไขในส่วนของยุทธศาสตร์ และแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติปี 2558 จะเห็นว่าจังหวัดภูเก็ต มีการฝึกซ้อมมากที่สุด ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใย ติดตามงาน ติดตามการซักซ้อม ทั้งนี้ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยกันแจ้งเตือนประชาชนเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ด้านเรื่องอุปกรณ์เตือนภัย จุดไหนที่เป็นจุดอ่อน มีการรับทราบ และแก้ไขปัญหาในภูเก็ต มีหอสัญญาณเตือนภัย 19 จุด รับทราบบางจุดที่สัญญาณอ่อนก็จะมีการแก้ไขต่อไป จังหวัดอื่นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยดูแลทั้งประเทศ

นายสุธี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การประชุมว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งเอเชีย ประจำปี พ.ศ.2559 ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ในเอเชีย ซึ่งจะนำผลการประชุมฯ ครั้งนี้เสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 7 ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ณ สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติของเอเชียให้เป็นระบบ และมีความเข้มแข็งมากขึ้น

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น