xs
xsm
sm
md
lg

รธน.ให้ฟ้องรัฐหากทำขัดนโยบาย ชงกกต.เลื่อนเลือกตั้งได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (28ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา
หลังการประชุม นายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ. แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณา ร่าง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ใน หมวดหน้าที่ของรัฐ มีสาระสำคัญคือ มีการกำหนดให้รัฐ ต้องดำเนินการให้ประชาชนชาวไทยได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและทั่วถึง ให้รัฐต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ได้รับการพัฒนา ให้รัฐต้องคุ้มครองและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รัฐต้องระมัดระวังผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และต้องเยียวยาความเดือดร้อนอย่างเป็นธรรม และรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การดำเนินการใดๆของรัฐ หากมีผลกระทบต่อความสงบสุข สุขภาพ หรือวิถีชีวิตของประชาชน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องด้วย รัฐต้องจัดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรม ต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังมีเสถียรภาพ และมั่นคงยั่งยืน และให้รัฐต้องมีและใช้มาตรการและกลไกเพื่อขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ
ส่วนประเด็นสิทธิสตรี ซึ่งเบื้องต้นมีการหารือว่า ควรบัญญัติไว้รวมกับสิทธิผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือบัญญัติไว้ในส่วนของการป้องกันความรุนแรง ซึ่งก็มีความเห็นหลายมุมมองว่า หากนำประเด็นสิทธิสตรี ไปรวมกับสิทธิผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส อาจเป็นการดูถูกสตรีเพศ หรือเป็นเพศที่รัฐต้องอุ้มชูดูแล ทั้งที่ สตรีก็มีความรู้ความสารถเท่าเทียมบุรุษเพศ ขณะที่เสียงของสตรีก็มีความเห็นว่าไม่ต้องการให้บัญญัติเนื้อหาที่เกิดความแตกต่างระหว่างสตรีกับบุรุษในเรื่องสรีระ แต่เรื่องการคุ้มครองสิทธิสตรี ต้องการให้มีบัญญัติคุ้มครองเหมือนเดิมต่อไป เพราะปัจจุบันสิทธิสตรีในบางกลุ่มของสังคมยังไม่ได้รับการยกระดับคุ้มครองให้เท่าเทียมบุรุษเพศ
ทั้งนี้ บางความเห็นใน กรธ. จึงมีการเสนอให้บัญญัติสิทธิสตรีในฐานะเพศมารดา แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติจากที่ประชุม

** เสนอให้อำนาจปชช.ฟ้องรัฐได้

ส่วนการพิจารณาใน หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ประชุมเห็นว่า รัฐบาลจะดำเนินการใดๆ ขัดกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่ได้ หากดำเนินการขัดกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จะสามารถเป็นเหตุฟ้องร้องได้ แต่จะฟ้องร้องให้รัฐดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่ได้
สำหรับความคืบหน้า ในการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทางกรธ. มีอนุกรรมการที่รับผิดชอบ ซึ่งคาดว่าเดือน พ.ย. จะสามารถลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้ โดยจะลงพื้นที่ร่วมกับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)และ ครม. ซึ่งเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ ส่วนกระบวนการจัดผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (โพล) ขณะนี้กำลังประสานงานติดต่อกับสถาบันของรัฐ ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัด ทำโพล 2-3 แห่ง เพื่อหาสถาบันทำโพลที่มีความเหมาะสม มาทำงานร่วมกับ กรธ.

** "วิษณุ"ชี้ปรองดองไม่ต้องถึงขั้นกอดจูบ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง แนวคิดของกรธ. ที่ให้ใช้คะแนนเสียงผู้สมัครส.ส.ระบบเขต ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า ยังไม่ทราบ กรธ.ต้องการทำอะไร และขนาดไหน แต่หลักที่ต้องการให้ทุกคะแนนมีความหมายนั้น ตนเห็นด้วย และเชื่อว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย ส่วนจะทำอย่างไรให้มีความหมายนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ทั้งนี้ จากการคุยกับ กรธ.บางคน ในเรื่องข้อเสนอให้ตัดสิทธิผู้สมัครที่มีคะแนนน้อยกว่า คะแนนโหวตโน ก็ได้รับคำอธิบายว่า จะตัดสิทธิ์เฉพาะครั้งนั้น แต่เลือกตั้งครั้งต่อไป ลงได้ ไม่ใช่ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม หลักการเรื่องทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย มีการใช้ในหลายประเทศ แต่จะนำเสียงนั้นมาใช้อย่างไร ทุกประเทศมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน ส่วนการนำคะแนนผู้แพ้เลือกตั้งแบบเขต ไปคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นการช่วยพรรคเล็กหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ยังไม่ขอออกความเห็นในเรื่องนี้ เพราะยังไม่เข้าใจเท่าไร
อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่า ตนไม่เคยพูดว่า หากยังไม่ปรองดอง จะเลือกตั้งไม่ได้ แต่บอกว่า ต้องปรองดองระดับหนึ่งก่อน ซึ่งหากไม่ปรองดองในลักษณะแตกต่าง เห็นแย้งกันอยู่ในใจ ตรงนี้ไม่เป็นไร ไม่ต้องปรองดองถึงขนาดรักกอดจูบกันได้ แต่หากความไม่ปรองดองไปถึงระดับที่ตะลุมบอนกัน ออกมาสู้กัน ออกมายึดสนามบิน ออกมาเผาสถานที่ราชการ เกิดความโกลาหล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะไม่กล้าจัดการเลือกตั้ง ประชาชนไม่กล้าออกจากบ้านมาเลือกตั้ง พรรคการเมืองไม่กล้าลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่กล้าหาเสียง แล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
แต่ที่สุดรัฐธรรมนูญก็ต้องออกมาตามโรดแมป คือ ภายใน 20 เดือน แต่หากเกิดเหตุขึ้นแล้ว วิธีที่จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้น ไม่ได้ยากอะไรเลย ยกตัวอย่างกรณีฝนตก น้ำท่วม ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ต่างประเทศก็ยังเลื่อนได้ หากเหตุมันเกิด แต่บ้านเราเหตุจะต่างกับเขา เพราะเป็นเรื่องความขัดแย้ง ตนเชื่อว่า ในรัฐธรรมนูญจะต้องเขียนให้อำนาจ กกต. ในการเลื่อน หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา อาจเลื่อน 1 เดือน 2 เดือน และ 3 เดือน แล้วแต่เขาจะเขียนเอาไว้ ดังนั้นไม่ได้แปลว่าโรดแมปทลายทิ้งหมด หากไม่ปรองดอง ใครจะไปดูถูกประชาชนขนาดนั้น

** แนะให้อำนาจกกต.เลื่อนเลือกตั้งได้

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในร่างรัฐธรรมนูญต้องให้อำนาจ กกต. พิจารณาเลื่อนการเลือกตั้ง หากไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ เหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีปัญหาขัดขวางการเลือกตั้ง ดังนั้นกรธ.ต้องพิจารณาดูว่า กกต.ต้องมีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร เพราะหากไม่มีอำนาจเลื่อนเลือกตั้ง จะเกิดความวุ่นวาย กรธ. จึงต้องเขียนให้ชัด โดยเฉพาะการให้ กกต. มีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้ง ในกรณีมีความขัดแย้งจนไม่สามารถเลือกตั้งได้ ซึ่งจะเลื่อนออกไปกี่เดือนก็แล้วแต่ ต้องกำหนดให้ชัดเจน ส่วนตัวชี้วัดคือ คนทั้งประเทศจะรู้ว่า สถานการณ์ใดที่เลือกตั้งไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่มีเจตนายืดโรดแมปของรัฐบาลออกไป แต่เป็นการป้องกันปัญหาในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น