xs
xsm
sm
md
lg

“บีทีเอส” เซ็นซื้อรถไฟฟ้าล็อตใหญ่ 1.3 หมื่นล้าน “สมคิด” ชี้เอกชนต้องกล้าลงทุนช่วยดัน GDP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” กระตุ้นเอกชนกล้าลงทุนในประเทศช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชูตัวอย่าง “บีทีเอส” ทุ่มกว่าหมื่นล้านบาทสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าล็อตใหญ่ 46 ขบวน กว่า 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสารปัจจุบันและสีเขียวส่วนต่อขยายไปสมุทรปราการและคูคต ชี้รัฐบาลผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ ดัน GDP โตสวนเศรษฐกิจโลก รอเอกชนกล้าตัดสินใจมากขึ้น ด้าน “คีรี” ประกาศพร้อมลงทุนรถไฟฟ้าทุกสาย รอเปิดทีโออาร์ลุยประมูลทันที

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อรถไฟฟ้า 46 ขบวน 184 ตู้ มูลค่ารวมประมาณ 11,000 ล้านบาท ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด และ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ว่า บีทีเอสถือเป็นบริษัทเอกชนที่กล้าหาญในการลงทุนและมองอนาคต ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่ดี โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งจะเปิดประมูลได้ในเดือน มิ.ย.นี้ จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

โดยขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับดีขึ้น เมื่อ 2 ปีที่แล้ว GDP อยู่ที่ 0.8% บ้านเมืองเกือบล้มเหลว โดยปีที่แล้ว GDP ขยับเป็น 2.8% ส่วนไตรมาส 1/59 ขยับมาอยู่ที่ 3.2% บอกเลยไม่ง่ายภายใต้สถานการณ์การเมืองไทยแบบนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแต่ทรงกับทรุด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตามราคาน้ำมันซึ่งไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลักด้วย แต่รัฐบาลและทุกส่วนทำงานหนัก GDP ไทยจึงโตสวนกระแสโลกที่กำลังถดถอย แต่ยังมีบางกลุ่มไม่พอใจ ซึ่งรัฐบาลเข้าใจและรับฟังหมด ไม่โกรธ ไม่น้อยใจเพราะหน้าที่ของรัฐบาลคือรับใช้บ้านเมือง ขณะที่หน้าที่ของผมคือจะไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดตามกระแสโลก และช่วยนายกฯ ปฏิรูปเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งการลงทุนระบบขนส่งมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป โดยขอให้เอกชนไทยเชื่อมั่นและกล้าลงทุน ร่วมมือกันมองอนาคตมากกว่ามองระยะสั้นๆ

“เอกชนไม่ลงทุนแล้ว GDP จะเติบโตได้อย่างไร การใช้จ่ายรัฐบาลทำได้บางส่วน แต่เอกชนจะเป็นนักรบสำคัญ ซึ่งบีทีเอสเป็นตัวอย่างของนักธุรกิจไทย เอกชนไทยควรตัดสินใจลงทุนในประเทศไม่ใช่หนีไปลงทุนประเทศอื่น เพราะวันนี้เศรษฐกิจน่าลงทุนที่สุด” นายสมคิดกล่าว

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีทีเอสได้ลงนามสัญญาซื้อรถไฟฟ้า 46 ขบวน 184 ตู้ โดยเป็นสัญญาซื้อขบวนรถกับบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด จำนวน 24 ขบวน และ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด 22 ขบวน เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าปัจจุบัน สายหมอชิต-แบริ่ง และสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ระยะทาง 36.25 กม. จำนวน 34 สถานี ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารสูงสุดเกือบ 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน และรองรับเส้นทางส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กม. โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบประมาณต้นปี 2561 ครบทั้งหมดภายในปี 2563

โดยเป็นการสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าล็อตใหญ่ที่สุดของไทย มูลค่าราว 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทรวมค่าซ่อมบำรุงด้วย บริษัทฯ ได้วางแผนในด้านเงินทุนไว้แล้ว รวมถึงเงินลงทุนในการร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ รฟม.จะประกาศทีโออาร์ออกมาด้วย ทั้งนี้ จะใช้เงินทุนของบริษัทและพิจารณาเงินกู้บางส่วน โดยรถไฟฟ้าทั้ง 46 ขบวนนี้ จะใช้อุปกรณ์ในประเทศ เช่น เก้าอี้ ราวจับ ห่วง โคมไฟ โดยขั้นตอนประกอบสุดท้ายจะทำในประเทศไทยเพื่อสร้างงานในประเทศ และจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีกกว่า 1 เท่าตัว

ทั้งนี้ ขบวนรถไฟฟ้าที่สั่งซื้อจากทั้ง บ.ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน และ บ.ซีเมนส์ จะใช้สเปกเดียวกับขบวนรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมเพื่อให้เข้ากับระบบต่างๆ ที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่ยังเลือกใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดจากผู้ผลิตชั้นนำของโลกเพื่อให้คุณภาพดีที่สุด โดยขบวนรถไฟฟ้าใหม่จากซีเมนส์จะมีการปรับรูปโฉมให้ดูทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนขบวนรถไฟฟ้าจาก บ.ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุนฯ จะมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ บ้างเพื่อให้ทันสมัยที่สุดแต่รูปลักษณ์ทั่วไปยังคงแบบเดียวกัน

***ปลายปี 59 เตรียมทดสอบต่อขยาย 1 สถานีไปสำโรง ก่อนเปิดจริงต้นปี 60

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า เร็วๆ นี้บริษัทจะลงนามกับทาง กทม.ในการรับจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายจากแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต ซึ่งในส่วนสายแบริ่งนั้นจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการได้ 1 สถานี คือ จากแบริ่ง-สำโรง ก่อน โดยจะมีการทดสอบระบบช่วงปลายปี 2559 และเปิดเดินรถจริงช่วงต้นปี 2560 และจะเปิดเดินรถตลอดสายถึงสมุทรปราการได้ไม่เกินต้นปี 2562 โดยทางกรุงเทพธนาคมจะเป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และ กทม.จะกำหนดค่าโดยสารอีกครั้ง











กำลังโหลดความคิดเห็น