ปี 2559 ประเทศไทยต้องกลับมาเผชิญภาวะภัยแล้งที่จัดว่าหนักสุดในรอบ 2 ทศวรรษ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2558 ที่ปริมาณฝนทิ้งช่วงทำให้การสะสมน้ำในเขื่อนหลายเขื่อนทั่วประเทศมีไม่เพียงพอ หลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลน “น้ำ” เพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึงภาคการเกษตรทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนรัฐต้องขอให้งดปลูกข้าวนาปรังและปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน
ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาภัยแล้งยังทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่ออัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ขณะนี้ก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบโดยตรงมายังภาคการส่งออกของไทย และภัยแล้งยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ และการใช้จ่ายของชาวไร่ชาวนา โดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าวที่มีจำนวนมากกว่า 3.7 ล้านครัวเรือนจึงส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวตาม
สภาพอากาศที่ร้อนแรงในเดือนเมษายนนี้พิสูจน์ได้จากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตามใกล้ชิดได้ทำลายสถิติสุงสุดต่อเนื่องกันไม่หยุดเพราะอุณหภูมิสูงเฉลี่ยถึง 38 องศาเซลเซียส ผู้คนหันมาเปิดเครื่องปรับอากาศ พัดลม ส่งผลให้การใช้ไฟพุ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก และจากสภาพอากาศที่ร้อนทางกรมอุตุนิยมวิทยาเองพยากรณ์ว่าความร้อนจะค่อยๆ ลดความร้อนแรงลง โดยจะเริ่มมีฝนได้ในช่วงเดือน พ.ค.นี้เพื่อเข้าสู่ฤดูฝน
ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างก็ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยผ่านมาตรการรัฐบาล และการมอบบริจาคถังน้ำสำหรับไว้ดื่มใช้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการบริหารจัดการน้ำนั้นภาคเอกชนได้เล็งเห็นความสำคัญและมีบทเรียนมาก่อนหน้าทั้งภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมกันมาแล้ว และแม้ว่าปีนี้พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือโครงการ Eastern Seaboard ซึ่งเป็นที่ตั้งของภาคการผลิตขนาดใหญ่ของประเทศจะไม่ประสบภาวะภัยแล้งแต่อย่างใด แต่เอกชนรายใหญ่ๆ ล้วนมีแผนบริหารจัดการน้ำที่มองถึงความยั่งยืนไว้รองรับทั้งในปัจจุบันและอนาคตไว้แล้ว
ตัวอย่างที่สำคัญคือ การบริหารจัดการน้ำของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจร ที่มีความจริงจังในการบริหารจัดการน้ำในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเก็บข้อมูลการใช้น้ำและการเพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2559 เพื่อช่วยลดการใช้น้ำลงตามมาตรการของรัฐ
โดยในปี 2559 บริษัทฯ วางเป้าหมายที่จะมีการนำน้ำกลับมาใช้ให้ได้ 40-47% ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจากระบบน้ำทิ้งที่ได้จากกระบวนการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste Water Reverse Osmosis หรือ RO) ซึ่งดำเนินการมาเกือบ 10 ปีจากเดิมบริษัทฯ ได้ทิ้งน้ำในส่วนนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์จึงมีแนวคิดนำน้ำกลับมาใช้ให้มากที่สุด โดยในปี 2558 ระบบ RO ทำให้บริษัทฯ สามารถนำน้ำกลับมาได้ 904,842 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 36.8% ของน้ำทิ้งจากโรงงาน โดยส่วนใหญ่จะนำกลับไปใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงงาน จากเดิมที่ต้องทิ้งน้ำทั้งหมด
“PTTGC มีแผนบริหารจัดการน้ำทั้งภายในและนอกองค์กร โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตาม 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) Water Saving เป็นการดำเนินการลดปริมาณการใช้น้ำตามหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) เพื่อใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 2) Water Innovation เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ และลดการใช้น้ำแหล่งเดียวกับชุมชน โดยการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 3) Water Stewardship เพื่อประเมินการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยจัดทำรอยเท้าน้ำ หรือ Water Footprint พร้อมทั้งได้ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 10% จากการดำเนินงานตามปกติ ภายในปี 2566 เทียบกับปี 2556 เพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แผนการบริหารจัดการน้ำภายนอกองค์กร ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ได้ร่วมกับกลุ่ม ปตท. (PTT Group Water Management Team : PTTWT) ที่จะมีคณะทำงานในการประเมินร่วมกันทุกไตรมาสเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก รวมถึงวิเคราะห์และจัดทำแผนงานการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ กลุ่ม ปตท. ซึ่งรวมถึงแผนการอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation) ในโครงการเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ เช่น โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำเขาห้วยมะหาด การมอบถังน้ำสะอาด InnoPlus ให้ผู้ประสบภัยแล้ง เป็นต้น” นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำจากภาคเอกชนซึ่งเชื่อว่าขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งได้มีการดำเนินงานเช่นเดียวกันเพื่อที่จะลดปริมาณการใช้น้ำลง ซึ่งกำลังกลายเป็นกระแสโลกที่มุ่งเน้นการต้อนรับสินค้าที่มีส่วนลดการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตาม การลดการใช้น้ำจากภาคเอกชนในกระบวนการผลิตและการลงทุนสำรองแหล่งน้ำนับเป็นเรื่องที่ควรจะดำเนินการอย่างจริงจัง
แต่เหนือสิ่งอื่นใดการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนก็ต้องทำในหลายส่วนไม่ใช่เพียงภาคเอกชนเท่านั้น เพราะการใช้น้ำมีการเติบโตทุกปีจากทุกภาคส่วนทั้งการอุปโภคและบริโภค การลงทุนพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการก็ยังมีส่วนสำคัญซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังแก้ไขปัญหาอยู่