xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” หวังสกัดสาดน้ำฟุ่มเฟือย ชงไอเดียขึ้นค่าน้ำ เม.ย. 59 ส่วนที่ใช้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกร.” ไอเดียบรรเจิดเสนอรัฐพิจารณาขึ้นค่าน้ำประปาช่วง เม.ย. 59 นี้ในส่วนที่ใช้เพิ่มขึ้นจาก เม.ย. 58 หวังปลุกจิตสำนึกใช้ประหยัดสกัดเล่นสงกรานต์ฟุ่มเฟือย เหตุชาวนายังต้องงดทำนาเพื่อรับมือภัยแล้ง พร้อมปลุกกระแสคนไทยจัดสัมมนา “กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัดภัยแล้ง” 29 มี.ค.นี้ ตั้งเป้าลดใช้น้ำประปา 30% ภายใน มิ.ย. 59


นายธวัธชัย ยงกิตติกุล ที่ปรึกษาสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการหารือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า กกร.ตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งซึ่งถือว่าวิกฤตสุดอีกปีหนึ่ง ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องน้ำควรจะพิจารณาเก็บค่าน้ำประปาในช่วง เม.ย. 59 นี้ในส่วนที่ใช้เพิ่มขึ้นจากช่วง เม.ย. 58 ในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการประหยัดน้ำ

“กกร.เห็นว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ เม.ย.จะมีการใช้น้ำมากในการเล่นสาดน้ำกัน ขณะที่ภาคเกษตรต่างจังหวัดเขางดทำนา ทำสวนเพราะน้ำไม่เพียงพอ แต่เราคนเมืองจะทำอะไรได้บ้างก็เลยเสนอการประปานครหลวง (กปน.) ในที่ประชุมว่าให้ไปดูการใช้น้ำย้อนหลังของทุกส่วนในช่วง เม.ย. 58 หรือช่วงแล้งของปีที่แล้วมาเปรียบเทียบ ถ้าเม.ย. 59 ใช้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมส่วนที่เพิ่มขึ้นควรจะจ่ายในอัตราที่สูงขึ้น ส่วนจะราคาเท่าใด ช่วงเวลาใดถ้ารัฐรับหลักการเราก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล เพราะเราเห็นว่ากลไกราคาน่าจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่ามากขึ้น” นายธวัธชัยกล่าว

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กกร.จะจัดงานสัมมนา “กกร.รวมใจ ใช้น้ำประหยัด ร่วมขจัดภัยแล้ง” ในวันที่ 29 มี.ค. โดยมีเป้าหมายหลักที่จะให้ทุกส่วนทั้งภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม และบ้านเรือน ลดปริมาณการใช้น้ำประปาลง 30% ภายในเดือนมิถุนายน 59 ซึ่งเบื้องต้นจะมีหน่วยงานซึ่งเป็นสมาชิก กกร. 100 รายเป็นโมเดลในการลดใช้น้ำ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาผลกระทบปัญหาวิกฤตภัยแล้งให้แก่ชุมชน และภาคเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียง และสร้างเครือข่ายหน่วยงาน และตระหนักรู้

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.ได้ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิต ปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำบาดาลมากขึ้น เพราะแม้จะมีต้นทุนแพงกว่าแต่จะสามารถช่วยลดการขาดแคลนน้ำผิวดินได้ในช่วงภัยแล้ง ขณะเดียวกัน ในระยะยาวก็สนับสนุนรัฐในการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน

“ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งสูงถึง 17 จังหวัด และมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 43 จังหวัด โดยหลายพื้นที่ต้องเริ่มใช้น้ำก้นเขื่อนแล้ว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการตกค้างของสารส้ม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด” นายบวรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น