xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” ลุ้นฝนตกตามพยากรณ์อากาศช่วยให้น้ำในเขื่อนพ้นวิกฤต-ดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” ลุ้นฝนตกหนักตามพยากรณ์อากาศที่จะเริ่มมีฝนตั้งแต่ 27 เม.ย.นี้ เพื่อช่วยเติมน้ำในเขื่อนให้พ้นวิกฤตหลังมีปริมาณต่ำมาก และช่วยบรรเทาอากาศร้อน แต่ยังหวั่นไฟฟ้าอาจพีกได้อีกช่วงเดือน พ.ค. พร้อมฝากการบ้านผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่สานต่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวังให้เกิดให้ได้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน จ่อออกอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ อีกระลอกปี 60

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า หากมีปริมาณฝนเป็นไปตามพยากรณ์อากาศที่จะเริ่มมีฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. หลังจากนั้น ก็อาจมีฝนต่อเนื่องเพราะก้าวสู่ฤดูฝน ก็จะส่งผลดีต่อปัญหาภัยแล้ง น้ำในเขื่อนจะพ้นวิกฤตได้ เพราะในขณะนี้น้ำในเขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อมภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 4,266 ล้านลูกบาศ์กเมตร ใช้งานได้จริงเพียง 3% เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 3,829 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งานได้จริง 10% ซึ่งหากมีน้ำไหลเข้าเขื่อนก็จะมีการกักเก็บไว้ใช้ได้ในแล้งต่อไป ส่วนการจะปล่อยน้ำหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของกรมชลประทานเป็นหลัก หากปล่อยน้ำในแง่ผลดีต่อการผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้ต้นทุนการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าต่ำ เพราะต้นทุนจากน้ำต่ำที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหากมีฝนตกจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และความร้อนได้ แต่ กฟผ.ก็ยังคาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก อาจเกิดขึ้นได้อีกในเดือน พ.ค. เพราะปกติแล้ว พีก จะเกิดได้ตั้งแต่ เม.ย.-พ.ค. หลังจากปีนี้เกิดรอบที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 19 เม.ย. เวลา 14.17 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก (Peak) อยู่ที่ 28,351.7 เมกะวัตต์ ทำลายตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้เป็นครั้งที่ 2 จากพีกครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 27,639.3 เมกะวัตต์

นายสุนชัย กล่าวว่า กฟผ.ยังคงที่จะทำความเข้าใจต่อทุกฝ่ายเพื่อที่จะเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะที่ จ.กระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงซึ่งยังคงคาดหวังว่าขั้นตอนดำเนินงานทั้งหมดจะยังทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามกรอบที่จะจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562

“ขณะนี้ยอมรับว่าขั้นตอนต่างๆ ที่วางไว้ล่าช้ามา 1 ปีแล้ว และขณะนี้เราเองก็ได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคี อะไรที่เป็นข้อกังวลใจ เช่น สารปรอท ที่เรายืนยันว่าไม่มีก็จะลงทุนติดตั้งเครื่องกำจัดเพิ่มให้เพื่อความสบายใจ และรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่มีความวิตก ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่ข้อสรุปได้ในเร็วๆ นี้” ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว

ทั้งนี้ “ถ่านหิน” เป็นเชื้อเพลิงที่จะมาสร้างสมดุลให้แก่ความมั่นคงไฟฟ้าของไทย เพราะขณะนี้ไทยพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟเป็นหลัก และก๊าซฯ ก็เริ่มจะทยอยหมดจากอ่าวไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าแทน ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP-2015) ก็ส่งเสริมการผลิตไฟจากพลังงานทดแทน 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นปริมาณค่อนข้างจะสูงแต่อย่าลืมว่า พลังงานทดแทนไม่ได้เป็นพลังงานพร้อมจ่ายไฟ หากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่สามารถจัดให้เป็นพลังงานสำรองได้ ยิ่งมีพลังงานทดแทนมากก็ยิ่งต้องมีโรงไฟฟ้าหลักที่เป็นก๊าซฯ และถ่านหินสำรองไว้เพิ่มมากเท่านั้น

นายสุนชัย กล่าวว่า ตนจะหมดวาระการเป็นผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ จึงต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่มาสานต่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ควรต้องเกิดเพราะมีความจำเป็น ไม่มีประเทศใดพึ่งพิงเชื้อเพลิงผลิตไฟจากชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปเพื่อดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากนี้ ยังต้องการให้สานต่อแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อนำมาป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้แทนซื้อจาก บมจ.ปตท.หลังรัฐเปิดให้เอกชนรายอื่นแข่งขันได้

คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี 6 เดือน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาอนุมัติถึงความเหมาะสมในการลงทุนหรือไม่ และหากเป็นไปตามแผนการก่อสร้าง โครงการดังกล่าวจะสามารถนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีประมาณ 3 ล้านตัน เพื่อป้อนให้โรงฟ้าพระนครใต้ ที่มีกำลังการผลิตที่ 2,600-2,800 เมกะวัตต์ ได้ในปี 2565 แต่จะไม่ทันกำหนดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพระนครใต้ที่จะจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2563 ซึ่งระหว่างนี้ก็จะใช้ก๊าซฯ จาก ปตท.เป็นหลักไปก่อน

นายวันชัย หงส์เชิดชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการบัญชี กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ โดยการนำโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 มาจัดตั้งกองทุนอินฟราฯ วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านหลังจากที่ก่อนหน้าได้นำเอาโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 ระดมทุนก่อนหน้านี้แล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2560 เพื่อนำเงินมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า และสายส่งเพิ่มเติมโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน EGATIF ที่ลงทุนในสิทธิรายได้ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 เป็นระยะเวลา 20 ปี ขนาดกองทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา ผลตอบแทนดีมากในขณะนี้ แต่การระดมทุนครั้งใหม่ยอมรับว่าเงินทุนหมุนเวียนในประเทศเยอะแนวโน้มผลตอบแทนอาจจะต่ำกว่าชุดแรกก็ต้องดูช่วงจังหวะอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ กฟผ.มีกระแสเงินสด 7-8 หมื่นล้านบาท แต่ช่วงปี 2559-63 จะต้องลงทุน 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 50% ลงทุนโรงไฟฟ้า และที่เหลือสายส่ง” นายวันชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น