“กฟผ.” เผยการผลิตไฟฟ้าจากน้ำในเขื่อนลดเหลือไม่ถึง 1% หลังแล้งจัด เร่งบริหารจัดการต้นทุนภาพรวมดึงโรงไฟฟ้าบางโรงที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันเตาและก๊าซฯ หันใช้น้ำมันเตาแทนแอลเอ็นจี เหตุต้นทุนต่ำกว่าทำให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าถูกลงแม้ผลิตไฟจากน้ำปีนี้จะต่ำก็ตาม
นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า จากภาวะภัยแล้งขณะนี้ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากน้ำในเขื่อนลดต่ำลงเหลือเฉลี่ยขณะนี้ไม่ถึง 1% จากเดิมการผลิตที่ผ่านมาเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 5% เนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนเป้าหมายจะเน้นไปที่การดูแลปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้ และการปล่อยน้ำจากเขื่อน กฟผ.จะต้องทำตามมติคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กฟผ.ได้เน้นการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมให้มีต้นทุนที่ต่ำสุดเพื่อประโยชน์โดยตรงต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะช่วงราคาน้ำมันเตาที่ลดลงมาได้โรงไฟฟ้าบางแห่งที่เดินเครื่องได้ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตาก็ให้เปลี่ยนเป็นน้ำมันเตา เพราะเมื่อเทียบกับการเดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แล้วต้นทุนต่ำกว่า โดยจะต้องดูสถานการณ์ราคาน้ำมันเพราะหากปรับแพงขึ้นในที่สุดก็จะไม่คุ้มทุนก็ต้องหันกลับไปใช้ก๊าซฯ
“ช่วงนี้น้ำมันเริ่มขึ้นแล้วถ้าเปลี่ยนเป็นน้ำมันเตาแทนแอลเอ็นจีบางแห่งก็ทำให้ต้นทุนการผลิตรวมถูกกว่า ก็จะมีผลสะท้อนไปยังค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ซึ่งก็จะถัวเฉลี่ยกับการผลิตไฟจากน้ำที่ต้นทุนต่ำสุด แต่ขณะนี้เราก็ผลิตได้น้อยกว่าเดิมเพราะเจอปัญหาภัยแล้ง” นายสุธนกล่าว
ทั้งนี้ กฟผ.คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ปี 2559 จะอยู่ระดับ 28,500 เมกะวัตต์ อุณหภูมิเฉลี่ยที่ 38.5-39 องศาเซลเซียส โดยประเมินว่าพีกดังกล่าวน่าจะเกิดช่วงปลายเดือน เม.ย. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพีกจะเกิดขึ้นในระดับดังกล่าวแต่ภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 39,000 เมกะวัตต์ทำให้สำรองไฟฟ้ายังคงมีถึง 30% จึงมั่นใจได้ว่าระบบไฟฟ้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการ
“อุณหภูมิที่สูงขึ้น 1 องศาฯ จะทำให้ความต้องการใช้ไฟเพิ่มขึ้น 350 เมกะวัตต์ ดังนั้นเราก็มองว่าถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นพีกก็อาจจะปรับเพิ่มได้ แต่ก็ต้องดูภาพรวมเพราะบางพื้นที่หากฝนตกพีกรวมก็อาจไม่ปรับได้เช่นกัน ซึ่ง กฟผ.ติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด” นายสุธนกล่าว