“กฟผ.” ยกเสาเอกโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ใช้เทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง (Ultra - Super critical) ลดการใช้เชื้อเพลิง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นต้นแบบการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไปในอนาคต กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2561
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมาได้ เป็นประธานในพิธียกเสาเอกโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 สร้างขึ้นเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7 เดิมซึ่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ ปี 2527 เป็นเวลากว่า 30 ปี และมีกำหนดปลดออกจากระบบในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยขณะนี้การก่อสร้างก้าวหน้า 18% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายและพร้อมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561
โรงไฟฟ้าใหม่นี้มีขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง (Ultra - Super critical) แห่งแรกของ กฟผ. เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีการควบคุมมลสารให้ดีขึ้นเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยโรงไฟฟ้าติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) เครื่องกำจัดฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตแรงสูง (ESP)
พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Selective Catalytic Reduction : SCR) ซึ่งจะช่วยควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบตามเวลาจริงตลอด 24 ชั่วโมง (Real-time) ผ่านระบบออนไลน์ ของกรมควบคุมมลพิษ จึงมั่นใจได้ว่า กฟผ.มีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าให้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานกำหนดตลอดเวลา