xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานยันหลายประเทศเพื่อนบ้านพึ่งถ่านหินผลิตไฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.พลังงานเผยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ชี้หลายประเทศยังคงพึ่งพาถ่านหิน แม้เป็นเจ้าของแหล่งก๊าซธรรมชาติสูงกว่าไทย มั่นใจแผน PDP 2015 เน้นกระจายแหล่งเชื้อเพลิง สร้างความมั่นคงการจัดหา และส่งเสริมพลังงานทดแทน ช่วยไทยลดความเสี่ยงความมั่นคงไฟฟ้าในอนาคต

นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ที่เน้นการพึ่งพิงถ่านหินผลิตไฟฟ้าเพื่อลดสัดส่วนก๊าซธรรมชาติลงเพื่อกระจายความเสี่ยงถือเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐและกระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินการตามแผน และหากพิจารณาถึงประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่มีแหล่งปิโตรเลียมเป็นของตนเองในสัดส่วนที่มากกว่าไทยก็ยังคงเน้นใช้ถ่านหินผลิตไฟเพื่อลดความเสี่ยง โดยมาเลเซียมีสัดส่วนสูงถึง 42% อินโดนีเซียสูงถึง 59% ฟิลิปปินส์ 47% ขณะที่ไทยตามแผนพีดีพีเมื่อสิ้นสุดปี 2579 จะใช้ถ่านหินเพียง 20-25% จากขณะนี้ 19% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด

นอกจากนี้ ภายใต้แผน PDP 2015 นี้ยังได้ส่งเสริมสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้วสูงถึง 20% แต่ด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนที่จะไม่สามารถเป็นพลังงานหลักเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จึงยังจำเป็นต้องมีเชื้อเพลิงทางเลือกเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ โดยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในปัจจุบันสามารถควบคุมมลภาวะและจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นทำได้เกินกว่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด โดยเฉพาะการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์นั้นสามารถลดลงได้สูงถึง 33% เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีเดิม รวมทั้งถ่านหินยังถือเป็นเชื้อเพลิงที่ราคามีเสถียรภาพและไม่แพงเพราะมีปริมาณสำรองสูงสามารถใช้ได้ถึง 200 ปี ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้สูงถึงปีละ 9,000 ล้านบาท

“หากดูจากสัดส่วนการเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับเรา อย่างมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย จะเห็นได้ชัดว่าทางเลือกถ่านหินยังเป็นทางเลือกหลักของประเทศเหล่านี้ แม้แต่ประเทศที่มีสำรองปิโตรเลียมมากกว่าเราทั้งสองประเทศ ซึ่งการตัดสินใจเพิ่มทางเลือกเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเป็นเชื้อเพลิงนั้นน่าจะเป็นทางออกที่สำคัญของประเทศไทยในการลดความเสี่ยงด้านการจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงในอนาคต” นายชวลิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น