ลำปาง/อุตรดิตถ์ - สถานการณ์น้ำเขื่อนใหญ่ภาคเหนือแห้งขอดทุกแห่ง ล่าสุด “เขื่อนสิริกิติ์” มีน้ำน้อยสุดรอบ 40 ปี ขณะที่ทั้งอ่างใหญ่-เล็ก ยันฝายแม่เมาะ มีน้ำที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยสุดในรอบ 20 ปี หากฝนไม่ตกเพิ่มจะผลิตไฟฟ้าได้อีก 4 เดือน ถึงสิ้นมิถุนาฯ เท่านั้น
นายไชยพร ไพฑูรย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิตไฟฟ้าแม่เมาะ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อน และอ่างเก็บน้ำที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และปล่อยน้ำให้กับชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ อ.แม่ทะ และ อ.เกาะคา บางส่วน รวม 3 อ่างใหญ่ 2 อ่างเล็ก 1 ฝาย ว่า ระดับน้ำที่เหลืออยู่ขณะนี้ถือว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปีแล้ว
โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 อ่างที่ใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าคือ อ่างแม่จาง จุน้ำ 90 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำใช้ได้เพียง 18 ล้าน ลบ.ม., อ่างแม่ขาม จุน้ำ 23.4 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันน้ำที่สามารถใช้ได้เพียง 6 ล้าน ลบ.ม. รวมสองอ่างมีน้ำที่จะใช้ได้คือ 24 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันทางโรงไฟฟ้าใช้น้ำวันละประมาณ 1.4 แสน ลบ.ม. เดือนประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม.
ซึ่งหากคำนวณแล้วจะมีน้ำเหลือใช้ประมาณ 4 เดือน คือถึงประมาณมิถุนายน 59 หากไม่มีฝนตกลงมาสมทบตามที่คาดไว้ในเดือนกรกฎาคมน้ำก็จะไม่พอในการผลิตไฟฟ้า นั่นก็หมายถึงต้องทยอยลดการผลิตไฟฟ้า แต่ที่ทางโรงไฟฟ้าตั้งเป้าคือ จะพยายามผลิตไฟฟ้าให้ถึง 31 ก.ค.ให้ได้
และหากไม่มีน้ำ แม่เมาะก็ต้องหยุดผลิต เราก็ต้องซื้อจากลาว (หงสา) ซึ่งมีโรงไฟฟ้า 3 โรง แต่ละโรงผลิตไฟฟ้าได้ 600 เมกะวัตต์ รวม 1,800 เมกะวัตต์ เราต้องซื้อ 1,400 เมกะวัตต์ ดังนั้นก็จะไม่กระทบต่อไฟฟ้าในภาคเหนืออย่างแน่นอน สำหรับปัจจุบันโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าได้ 2,140 เมกะวัตต์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคเหนือจะอยู่ที่ประมาณ 1,600 เมกะวัตต์
ในส่วนของประชาชนที่ต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความดูแลของ กฟผ. รวม 3 อำเภอ แม่เมาะ แม่ทะ เกาะคา 4 ตำบล คือ บ้านดง, แม่เมาะ, สบป้าด และนาสัก ยังคงไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค แต่ด้านการเกษตร ต้องให้ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อยแทน
สำหรับเขื่อนกิ่วลม เก็บกักน้ำได้ 106 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเหลือ 0.09 ล้าน ลบ.ม , เขื่อนกิ่วคอหมา เก็บกักน้ำได้ 170 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีเพียง 0.01 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ที่เป็นเขื่อนใหญ่ที่สองของประเทศ รองจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ล่าสุดวานนี้ (3 มี.ค.) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีอยู่ 4,292.27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45.13 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่วันเดียวกันเมื่อปีที่แล้วมีปริมาณน้ำ 5,486.66 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 57.69 เปอร์เซ็นต์ และมีปริมาณน้ำที่พร้อมใช้งานเพียง 1,442.27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 21.66 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
โดยมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์เท่ากับ 2.35 ล้านลูกบาศก์เมตร และทางเขื่อนสิริกิติ์มีแผนปล่อยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภครวมถึงการเลี้ยงปลาในกระชังในช่วงนี้ตั้งแต่วันที่ 1-6 มีนาคมเป็นวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ในปีนี้มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่า สำหรับพี่น้องเกษตรกรก็ขอความร่วมมือให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน งดการทำนาปรังโดยเด็ดขาด
และขณะนี้ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งไปแล้ว 2 อำเภอ และยังต้องเฝ้าระวังอีก 6 อำเภอ ส่วนในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคทางจังหวัดก็ได้ให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ปภ.ตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับทางอำเภอแล้วทำจุดกักเก็บน้ำ เช่น อ.ทองแสนขัน อ.พิชัย จากนั้นก็จะเร่งใช้งบประมาณในการช่วยเหลือในเชิงป้องกันจัดทำเขื่อนยกระดับน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค
นอกจากนี้ ทางจังหวัดฯ ได้มอบหมายให้ทีมประเทศไทยในระดับตำบลลงไปทำเวทีเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ทราบว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะรณรงค์ขอความร่วมมืองดการปลูกพืชใช้น้ำมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรังโดยเด็ดขาด