xs
xsm
sm
md
lg

อากาศร้อน! คนไทยเริ่มใช้ไฟสูงสุดแล้ว 26,417 เมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” เผย 9 มี.ค.ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของปีนี้ที่ 26,417 เมกะวัตต์เมื่อเวลา 19.13 น. จากอุณหภูมิที่ร้อนคนหันเปิดแอร์พุ่ง จับตาภาวะอากาศช่วงฤดูร้อนใกล้ชิดพีกส่อทำลายสิถิติปีที่แล้วสูง คาดพีกปีนี้อยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์

นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ปี 2559 เริ่มขึ้นแล้วหลังจากที่อากาศเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน โดยพีกสูงสุดของปีนี้ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ระดับ 26,147 เมกะวัตต์ และล่าสุดวันที่ 9 มี.ค. พีกกลับมาสูงสุดอีกครั้งที่ 26,417 เมกะวัตต์ เวลา 19.13 น. โดยคาดว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย กฟผ.คาดการณ์ว่าพีกปีนี้จะอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ มีอัตราขยายตัวจากปีก่อน 4.1% โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วง มี.ค.-พ.ค.

“ช่วงสัปดาห์นี้อุณหภูมิเริ่มเย็นลง แต่ภาพรวมปีนี้สภาพอากาศโดยรวมจะร้อนกว่าปีที่ผ่านมา พีกก็ยังคงมีโอกาสเกิดขึ้นอีกได้” นายเริงชัยกล่าว

นายเทียนไชย จงพีร์เพียร กรรมการในคณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานกำลังติดตามสถานการณ์การใช้ไฟระยะสั้นใกล้ชิด เนื่องจากสภาพอากาศที่แล้งจัดอาจส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ปี 2559 สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่เคยทำไว้ระดับ 27,346 เมกะวัตต์เมื่อเดือน มิ.ย. 58 ที่อุณหภูมิประมาณ 36.7 องศาเซนเซียส อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพีกอาจจะสูงมากขึ้น ภาพรวมปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 25% จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาไฟฟ้าขาด

“เราคงต้องติดตามระยะสั้นเกี่ยวกับพีกว่าจะโตขึ้นมากน้อยเพียงใด เพราะคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเพื่อที่จะวางแผนร่วมกันในการลดพีกในช่วงฤดูร้อน ประกอบกับภาวะภัยแล้งทำให้ปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนหลักคือสิริกิติ์ และภูมิพลมีต่ำทำให้การปล่อยน้ำลดลง การผลิตไฟจากน้ำที่เป็นต้นทุนต่ำสุดก็จะมีน้อย แต่โชคดีที่ราคาก๊าซธรรมชาติต่ำตามน้ำมันเลยทำให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ไม่แพงมากนักแม้การผลิตไฟจากน้ำจะลดลงก็ตาม” นายเทียนไชยกล่าว

นอกจากนี้ คณะทำงานยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2559 เนื่องจากยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจไทยช่วง 2 ปีมานี้แนวโน้มลดลงทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าที่ประเมิน แต่ภาพรวมการปรับค่าพยากรณ์ใหม่เพื่อนำไปสู่การปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP นั้นจะดูระยะ 2-3 ปี และส่วนใหญ่ที่ปรับจะเป็นเพราะเศรษฐกิจโตเร็วกว่าที่คาดการณ์จนทำให้สำรองไฟฟ้าเหลือไม่มากเป็นหลัก แต่เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวขณะนี้ภาพรวมทำให้ยังไม่ต้องปรับค่าพยากรณ์และแผนผลิตไฟมากนัก โดยตัวแปรที่ทำให้สำรองไฟสูงขึ้นมากน่าจะไปอยู่ที่ช่วงปี 2566-67 ที่โรงไฟฟ้าเอกชนจะทยอยเข้าระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น