“พาณิชย์” แนะเอกชนปรับตัวผลิตสินค้าและบริการ โดยการสร้างความแตกต่างและใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หลังแนวโน้มจะมีการใช้ FTA ในการเปิดตลาดมากขึ้น ด้านเอกชนชี้ยังใช้ประโยชน์จาก FTA ได้ไม่เต็มที่ แนะรัฐเร่งกระตุ้น
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 การค้าเสรีของไทยจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร” จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศในโอกาสครบรอบ 74 ปี ว่าแนวโน้มในอนาคตประเทศต่างๆ จะมีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น หากผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA จะต้องเตรียมความพร้อมพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมาตรฐาน ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนซึ่งจะทำให้แข่งขันได้
“ต้องทำสินค้าและบริการให้มีความแตกต่างจากประเทศคู่แข่ง เพราะถ้าทำได้ ราคาแพงเท่าไหร่ ลูกค้าก็ยอมจ่ายเพื่อซื้อหามาบริโภค แต่ถ้าไม่แตกต่างลูกค้าก็หาซื้อได้ทั่วไป ทำให้ไทยแข่งขันได้ยาก หรือถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นก็เหมือนกับสินค้าจีไอ (สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังส่งเสริมให้มีทุกจังหวัด ซึ่งสินค้าจีไอถือเป็นของดีในแต่ละจังหวัด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สินค้าและบริการก็เช่นเดียวกันถ้าทำให้แตกต่างได้ก็จะขายได้” นายอดุลย์กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2558 ไทยได้ทำ FTA กับประเทศคู่ค้าจำนวน 11 ความตกลง ได้แก่ อาฟต้า (AFTA) อาเซียน-จีน (ACFTA) ไทย-อินเดีย (TIFTA) อาเซียน-อินเดีย (AIFTA), ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อาเซียน-เกาหลี (AKFTA) ไทย-เปรู (TPCEP) และไทย-ชิลี (TCFTA) ยกเว้น ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP)
โดยในปี 2558 มีการขอใช้สิทธิ FTA ส่งออกมูลค่า 50,534.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 2.03 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 72.21 ของมูลค่าส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA ที่มีมูลค่า 69,980.31 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมี FTA กับหลายประเทศ ซึ่งจะต้องเร่งนำมาใช้ให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมา ไทยยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ รัฐจึงต้องวางแผนหาทางใช้ผู้ประกอบการเข้าไปประโยชน์ให้ได้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐจะต้องเข้ามาช่วยดูแล กรณีมีการทุ่มตลาดของสินค้าจากบางประเทศ โดยต้องมีการตรวจสอบและติดตามอย่างรวดเร็ว เพื่อดูแลอุตสาหกรรมภายในประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบ ซึ่งขอให้ดูตัวอย่างจีน ที่ได้นำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมาใช้เพื่อดูแลผู้ประกอบการไม่ให้ได้รับผลกระทบ
นายดนุวัศ สาคริก รองคณบดีสถาบันการทูตและการต่างประเทศ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องวางยุทธศาสตร์โดยเป็นมิตรกับทุกประเทศ เหมือนกับสวิตเซอร์แลนด์ที่สามารถค้าขายได้กับทุกประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ด้านการค้าจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ เพราะจะใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันไม่ได้ เพราะพื้นฐานของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน