เอเอฟพี - สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอังกฤษ (Confederation of British Industry - CBI) เผยแพร่ผลวิจัยซึ่งพบว่า หากชาวเมืองผู้ดีลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) จะทำให้เศรษฐกิจเสียหายเป็นมูลค่าถึง 100,000 ล้านปอนด์ และจะมีคนตกงานถึง 950,000 ตำแหน่งภายในปี 2020
ซีบีไอ เตือนว่า ปรากฏการณ์ “เบร็กซิต” (Brexit) จะทำให้เศรษฐกิจเมืองผู้ดีสั่นคลอนอย่างหนัก ต่อให้รัฐบาลพยายามแก้สถานการณ์โดยทำข้อตกลงการค้ากับอดีตหุ้นส่วนในยุโรปก็ตามที
“ผลการวิเคราะห์เห็นได้ชัดเจนว่า เหตุใดการอำลาสหภาพยุโรปจึงส่งกระทบใหญ่หลวงต่อคุณภาพชีวิต การจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจของเรา” แคโรลีน แฟร์บาร์น ผู้อำนวยการใหญ่ซีบีไอ ระบุในถ้อยแถลงวันนี้ (21 มี.ค.)
“เงินออมที่เพิ่มขึ้นจากการจ่ายงบสนับสนุนอียูน้อยลง และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ลดลง เทียบไม่ได้กับผลเสียที่จะเกิดกับการค้าและการลงทุน ต่อให้มองในแง่ดีที่สุด เศรษฐกิจของอังกฤษก็ยังจะสั่นคลอนอย่างรุนแรง”
การที่ ซีบีไอ พยายามอ้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในอียู ทำให้องค์กรแห่งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่อต้านอียู ซึ่งอ้างว่าแม้แต่นักธุรกิจเองก็ใช่จะคิดแบบ ซีบีไอ ทุกรายไป
ก่อนหน้านี้ เคยมีกลุ่มต่อต้านอียู 2 คนเข้าไปป่วนการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ซึ่งจัดโดยซีบีไอเมื่อเดือน พ.ย. โดยคลี่ป้ายข้อความที่เขียนว่า “ซีบีไอ - เสียงของบรัสเซลส์”
สัปดาห์ที่แล้ว ซีบีไอ ได้ออกมาปกป้องจุดยืนของกลุ่ม โดยเผยแพร่ผลการศึกษาซึ่งพบว่า สมาชิก 80% ต้องการให้อังกฤษอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรปต่อไป และมีเพียง 5% เท่านั้นที่คิดว่าการออกจากอียูจะเป็นผลดีต่อธุรกิจของพวกเขามากกว่า
อังกฤษจะจัดทำประชามติให้พลเมืองเลือกอยู่หรือไปจากอียูในวันที่ 23 มิ.ย. ซึ่งจนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่า ชาวเมืองผู้ดีเองก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยผลสำรวจพบว่า ชาวอังกฤษที่ต้องการอยู่และไปจากอียูมีสัดส่วนราว 40% เท่าๆ กัน ขณะที่อีก 20% ยังไม่ได้ตัดสินใจ
ผู้อำนวยการหอการค้าอังกฤษ (British Chamber of Commerce) เพิ่งจะลาออกจากตำแหน่งในเดือนนี้ หลังออกมาประกาศแนวคิดต่อต้านอียูอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งขัดต่อธรรมเนียมของหอการค้าอังกฤษที่จะต้องรักษาจุดยืนเป็นกลางในเรื่องนี้
ซีบีไอ ซึ่งเป็นตัวแทนภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในอังกฤษ ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา PwC ศึกษาความเป็นไปได้ 2 ทางที่อาจเกิดขึ้นหากอังกฤษบอกลาอียู โดยทางหนึ่งนั้นสมมติให้รัฐบาลบรรลุข้อตกลงการค้าใหม่ๆ กับอดีตหุ้นส่วนยุโรป
ผลการศึกษาพบว่า ในความเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบ คุณภาพชีวิต อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานในอังกฤษจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับการอยู่ในอียูต่อไป ผลผลิตทางเศรษฐกิจ (economic output) ของอังกฤษจะลดลงราว 5% ของจีดีพีภายในปี 2020 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 100,000 ล้านปอนด์ และต่อให้รัฐบาลสามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูได้อย่างรวดเร็วก็ยังมีแนวโน้มที่จีดีพีจะหดตัวไม่ต่ำกว่า 3%