xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถกซีอีโอค่ายรถยนต์ ดึงลงทุนผลิตรถยนต์แห่งอนาคตในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” ถกซีอีโอค่ายรถโตโยต้า อีซูซุ นิสสัน และฮอนด้า ดึงใช้ไทยเป็นฮับในการผลิตรถยนต์แห่งอนาคต สั่ง “อุตสาหกรรม” ทำแพกเกจสนับสนุนร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับซีอีโอของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (7 มี.ค.) ว่า ซีอีโอค่ายรถยนต์ทั้ง 4 ค่าย ได้แก่ โตโยต้า อีซูซุ นิสสัน และฮอนด้า ได้ยืนยันที่จะลงทุนในไทยต่อเนื่อง ไม่ไปลงทุนที่อื่น และมีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอนาคต ทั้งรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า และรถพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ของโลกที่ให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการป้องกันปัญหาก๊าซเรือนกระจก

“ค่ายรถยนต์ได้ขอทราบนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอนาคตว่ารัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันไปว่ารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพราะไทยต้องการส่งเสริมการให้มีลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอนาคต และต้องการผลักดันให้ไทยเป็นฮับของการผลิตรถยนต์แห่งอนาคต”

ทั้งนี้ นายกฯ ได้ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ทั้งการส่งเสริมการลงทุน ด้านการเงิน การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากรให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับ และยังได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหารือร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น คลัง พาณิชย์ แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคมนาคม เป็นต้น เพื่อจัดทำรายละเอียดและแผนงานสนับสนุนในเรื่องนี้ให้มีผลโดยเร็ว ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุน นโยบายด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อใช้ในการดึงดูดให้ค่ายรถยนต์เข้ามาลงทุนในไทย และให้เห็นผลชัดเจนในปี 2560 เป็นต้นไป รวมทั้งให้ทำแผนพัฒนาร่วมกันสำหรับ 5 ปี และ 20 ปีข้างหน้าด้วย

ส่วนรถยนต์อีโคคาร์ รัฐบาลมีนโยบายที่จะสานต่อ แต่ขอให้มองไปไกลถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตด้วย และขอให้การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ต้องการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซล หรือเอทานอล เพราะจะช่วยดึงราคาและหาตลาดให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ปาล์มน้ำมันและอ้อยเพิ่มมากขึ้น โดยพร้อมที่จะพิจารณาการขยายการสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับรถปิกอัพที่ใช้ไบโอดีเซล และจะหาแนวทางสนับสนุนให้ขยายไปใช้น้ำมัน B20 เพิ่มเติมจาก B10 B15 ในปัจจุบัน

น.ส.ชุติมากล่าวว่า ซีอีโอค่ายรถยนต์มองว่าการมาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยมีตลาดภายในประเทศสนับสนุนชัดเจน และหากรัฐบาลมีนโยบายชัดก็พร้อมที่จะมาลงทุน และเมื่อมาลงทุนแล้ว รถยนต์ที่ผลิตได้ หากมีกำลังการผลิตเหลือก็ต้องการที่จะผลักดันการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยได้ขอความชัดเจนจากรัฐบาลว่ามีการเจรจาเปิดตลาดรถยนต์ในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร ซึ่งได้ยืนยันไปว่าไทยมีการเจรจาเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในกรอบข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เดิม และการเจรจา FTA กับประเทศใหม่ๆ

“ตอนนี้ไทยได้เดินหน้าในการเจรจา FTA กับประเทศที่เป็นคู่เจรจา เพื่อเปิดตลาดอย่างต่อเนื่อง และยังได้เริ่มเจรจา FTA กับประเทศใหม่ๆ ทั้งปากีสถาน ตุรกี ประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และขยายไปยังรัสเซีย และยูเรเซีย รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะเข้าร่วมในการเจรจา TPP” น.ส.ชุติมากล่าว

ส่วนปัญหาอุปสรรคด้านกฎระเบียบภายในประเทศของไทยที่เป็นปัญหาในการลงทุน นายกฯ รับว่าจะเร่งหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการให้ หรือให้หาทางออกที่เหมาะสมให้กับทุกบริษัทอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับซีอีโออุตสาหกรรมรถยนต์ 4 บริษัทที่มาหารือกับนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ มีสัดส่วนในการส่งออกประมาณ 58% ของมูลค่าการส่งออกรถของไทย โดยการส่งออกรถยนต์ในปี 2558 มีจำนวน 1.25 ล้านคัน มูลค่า 17,586 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากรวมอุปกรณ์และชิ้นส่วนจะมีมูลค่า 25,608 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยรถปิกอัพเป็นรถที่ส่งออกได้อันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก รถอีโคคาร์ ตลาดสำคัญ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง นิวซีแลนด์ และเม็กซิโก เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น