xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด พณ.สั่งเร่งแก้ปัญหานอมินี ทบทวนกฎหมายต่างด้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปตรวจสอบปัญหาการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ว่ามีมีข้อเท็จจริงอย่างไร มีปัญหาอะไรในปัจจุบันนี้ และกฎหมายที่มีอยู่โดยเฉพาะการกำกับดูแล โดย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพียงพอหรือไม่ และการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการจัดการปัญหานอมินีหรือไม่ โดยจัดทำสรุปเป็นแผนปฏิบัติการ (แอคชั่น แพลน) เสนอให้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ต้องการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งทำแอคชั่น แพลนโดยเร็วหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพูดถึงกรณีมีคนจีนบางกลุ่มเข้ามาทำธุรกิจในไทย ทำให้ธุรกิจคนไทยได้รับความเดือดร้อน ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งเรื่องผลไม้และการเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ลงไปหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเป็นการเร่งด่วน และในฐานะประธานคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะมีการพิจารณามาแนวทางแก้ไขปัญหานอมินีที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม จะให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปดูในแง่กฎหมายที่ใช้สามารถแก้ไขได้หรือไม่ หรือหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ดีขึ้นก็จะต้องดำเนินการแก้ไข โดยที่ผ่านมาได้ทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนมาแล้ว โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขนิยาม “คนต่างด้าว” หากมีความจำเป็นคงต้องปรับแก้และจะมีการทบทวนเพื่อให้มีความเป็นสากลดูแลการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยให้ดีมากขึ้นและกำลังพิจารณาทบทวนบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ทั้งบัญชี 1 , 2 และ 3 ซึ่งในส่วนของบัญชี 1 และ 2 เป็นบัญชีที่ห้ามคนต่างด้าวทำก็อาจจะมีการทบทวนเพื่อเปิดให้เข้ามาทำได้สะดวก แต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนไทย
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า บางธุรกิจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสงวนไว้ต่อไป ขณะที่ธุรกิจในบัญชี 3 จะมีการทบทวนเพื่อให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น และธุรกิจที่อยู่ในเป้าหมายทบทวนเพื่อปลดออกจากบัญชี 3 เพิ่ม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและจำเป็นต่อธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนและสำนักงานภูมิภาค ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น