“ปลัดพาณิชย์” สั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำแผนปฏิบัติการจัดการปัญหา “นอมินี” แอบทำธุรกิจในไทย ขีดเส้นสรุปสัปดาห์นี้ ทั้งปัญหา ข้อเท็จจริง การบังคับใช้กฎหมาย และแนวทางดำเนินการต่อไป เผยหากจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อให้ดูแลได้ดีขึ้นก็ต้องทำ โดยเฉพาะการปรับปรุงนิยาม “คนต่างด้าว” ระบุจะทบทวนปลดธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้ายเพิ่ม ทั้งบัญชี 1, 2 และ 3 หลังบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องสงวนไว้อีกต่อไป
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปตรวจสอบปัญหาการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ว่ามีมีข้อเท็จจริงอย่างไร มีปัญหาอะไรในปัจจุบันนี้ และกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะการกำกับดูแลโดย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพียงพอหรือไม่ และการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการจัดการปัญหานอมินีหรือไม่ โดยจัดทำสรุปเป็นแผนปฏิบัติการ (แอ็กชัน แพลน) เสนอให้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ พิจารณาในสัปดาห์นี้
“ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งทำแอ็กชัน แพลน อย่างเร่งด่วน เพราะเรื่องนี้มีการพูดคุยกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า มีปัญหาคนจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทย ทำให้ธุรกิจคนไทยได้รับความเดือดร้อน โดยที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องล้งผลไม้ และการเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อการท่องเที่ยว ซึ่ง ครม.ได้สั่งให้พาณิชย์ไปดูแลแก้ไขปัญหา” น.ส.ชุติมา กล่าว
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะมีการพิจารณาต่อว่าการแก้ไขปัญหานอมินีที่เกิดขึ้น กฎหมายที่ใช้อยู่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ หรือหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ดีขึ้นก็จะต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการทำประชาพิจารณ์ และรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนมาแล้ว โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขนิยาม “คนต่างด้าว” หากมีความจำเป็นก็ต้องปรับแก้ ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ โดยจะมีการทบทวนเพื่อให้มีความเป็นสากล และดูแลการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยให้ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาทบทวนบัญชีแนบท้า ยพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ทั้งบัญชี 1, 2 และ 3 ซึ่งในส่วนของบัญชี 1 และ 2 เป็นบัญชีที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ก็อาจจะมีการทบทวนเพื่อเปิดให้เข้ามาทำได้ เพราะบางธุรกิจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสงวนเอาไว้อีกต่อไป ส่วนธุรกิจในบัญชี 3 ก็จะมีการทบทวนเพื่อให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น
โดยธุรกิจที่อยู่ในเป้าหมายที่จะดำเนินการทบทวนเพื่อปลดออกจากบัญชี 3 เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและจำเป็นต่อธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนและสำนักงานภูมิภาค ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รมว.พาณิชย์ได้ลงนามในกฎกระทรวงฉบับใหม่ โดยกำหนดให้ 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจสำนักงานผู้แทนธนาคาร ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งอยู่ในบัญชี 3 เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาตต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะมีกฎหมายเฉพาะดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อลดความซ้ำซ้อน และอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทย