“เมติ” ดันไทยเป็นศูนย์กลางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมกับไทยในการดำเนินการ คาดช่วยสนับสนุนนโยบายการกระจายฐานผลิต และการเปิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนาย Tatsuya Terazawa อธิบดีกรมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) ว่าเมติได้มาเสนอแผนที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมมือกับไทยในการพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรของประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และพม่า ทั้งระดับบน กลางและล่าง เพื่อให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นรองรับการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรของประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ในด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยและญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะสามารถกระจายแหล่งผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านให้ผลิตแล้วส่งกลับมายังไทย และยังเกิดประโยชน์ต่อไทยที่มีนโยบายในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนที่จะสามารถใช้แรงงานมีฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านได้
“ญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยพัฒนาบุคคลกรในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบริหาร ระดับกลาง ไปจนถึงระดับแรงงาน โดยเบื้องต้นในระดับกลางถึงบนจะเน้นการพัฒนาในสาขาที่ขาดแคลน เช่น วิศวะ การออกแบบ และการบริหาร และในระดับแรงงาน จะเข้าไปช่วยเพิ่มทักษะในการทำงาน ซึ่งจะทำให้แรงงานของเพื่อนบ้านมีฝีมือเพิ่มขึ้น และรองรับการกระจ่ายฐานการผลิต และการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ หรือรองรับการเปิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนของไทยซึ่งจะช่วยในการลดต้นทุนได้อย่างมาก” นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวว่า ญี่ปุ่นได้เสนอที่จะช่วยเหลือไทยในการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อรองรับการที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าต้องขออนุญาต และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2561 เพื่อไม่ให้การปฏิบัติงานเกิดปัญหาและอุปสรรค และเกิดผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทย เพราะเป็นเรื่องใหม่
อย่างไรก็ตาม ในการหารือครั้งนี้เมติได้ขอให้ไทยช่วยดูแลเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเพราะใช้เวลาในการดำเนินการนาน ขอให้มีความคล่องตัวมากกว่านี้เพราะจะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเข้ามาช่วยพัฒนาและเพิ่มทักษะให้แก่บุคลากรของไทยได้เร็วขึ้น
นางอภิรดีกล่าวว่า กระทรวงฯ ยังมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนา CLMVT Forum ในวันที่ 16-18 มิ.ย. 2559 ที่กรุงเทพฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์เชิงลึกกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โดยจะหาแนวทางในการสร้างเครือข่าย และการเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อผลักดันให้ประเทศในกลุ่ม CLMVT และอาเซียนมีบทบาทในเวทีโลกต่อไป
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ขอเสียงสนับสนุนจากไทยเพื่อผลักดันให้นาย Ichiro Araki ผู้สมัครชาวญี่ปุ่น ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกของคณะผู้พิจารณาต่อองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย
สำหรับโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคเอเชีย เกิดขึ้นโดยนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ได้ประกาศในระหว่างการประชุม ASEAN Business Investment Summit เมื่อเดือน พ.ย. 2558 ว่าจะพัฒนาบุคลากรให้ได้จำนวน 40,000 คนภายในระยะเวลา 3 ปี จากนั้นเมติได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนจำนวน 2.5 พันล้านเยน หรือ 21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียน
ญี่ปุ่น เป็นประเทศคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญของไทย และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 62,031.29 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 51,311.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.37% โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 20,075.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.66% และนำเข้ามูลค่า 31,235.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.03%