xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกำหนดการท่าที “บิ๊กตู่” ก่อนบินถกเวที “ผู้นำแม่โขง-ล้านช้าง” เน้นรับทราบโครงการเร่งด่วนเพื่อทำทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดกำหนดการ “บิ๊กตู่” และคณะ บินประชุมสองเวที “ผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ที่เมืองซานย่า และประชุม “Boao Forum for Asia” ที่เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคมนี้ เตรียมถก “ปฏิญญาซานย่า” กำหนดทิศทาง หลักการ และแนวทางความร่วมมือของกรอบแม่โขง-ล้านช้าง มุ่งแสดงวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำ รับทราบแถลงการณ์ร่วมด้านศักยภาพในการผลิต หลักเกณฑ์พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน สุดท้ายรับทราบรายการโครงการเร่งด่วนที่รวบรวมข้อเสนอโครงการของประเทศสมาชิกทุกประเทศเพื่อดำเนินการทันที

วันนี้ (22 มี.ค.) มีรายงานว่า พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง กำหนดการเยือนและประชุมเวทีระดับประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ณ เมืองซานย่า และการประชุม Boao Forum for Asia ณ เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคมนี้

สำหรับกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม และจีน โดยเป็นกรอบความร่วมมือที่จีนพัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งได้เสนอให้มีกรอบความร่วมมือที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำหรับการประชุมครั้งนี้ฝ่ายจีนได้เชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน โดยมีหัวข้อหลักของการประชุม คือ “Shared River, Shared Future” กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างมีความร่วมมือที่สอดคล้องกับ 3 เสาหลักของอาเซียน ได้แก่ 1. การเมืองและความมั่นคง 2. เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3. สังคม-วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ครอบคลุมความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ (1. การส่งเสริมความเชื่อมโยง (2. ความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรม (3. ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดน (4. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ (5. การเกษตรและการลดความยากจน

วัตถุประสงค์ของการประชุมเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างในการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับวาระของอาเซียนในการลดช่องว่างการพัฒนาในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงผลักดันให้บรรลุเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป็นการส่งเสริมบทบาทในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มกำลังพัฒนา (จี 77) รวมทั้งเป็นโอกาสของไทยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่สมาชิกในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงอีกด้วย

ผลลัพธ์ของการประชุม ได้แก่ 1. ร่างปฏิญญาซานย่า ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดทิศทาง หลักการ และแนวทางความร่วมมือของกรอบแม่โขง-ล้านช้าง เป็นเอกสารที่มุ่งแสดงวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำต่อกรอบดังกล่าว 2. ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต ซึ่งระบุความสำคัญและประโยชน์ของความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิต หลักเกณฑ์ในการดำเนินความร่วมมือด้านการผลิตระหว่างกัน สาขาหลักในการดำเนินความร่วมมือ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน 3. รายการโครงการเร่งด่วนเพื่อดำเนินการทันที ที่ได้รวบรวมข้อเสนอโครงการของประเทศสมาชิกทุกประเทศที่พร้อมดำเนินการ และนำมาซึ่งประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง

“สำหรับการประชุม Boao Forum for Asia เป็นเวทีสำหรับผู้นำระดับสูงทั้งจากภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ ได้มาหารือและแสดงวิสัยทัศน์ โดยมีเวที World Economic Forum เป็นต้นแบบ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ สำหรับหัวข้อของการประชุม Boao Forum for Asia ในปีนี้ คือ Asia’s New Future : New Dynamics, New Vision โดยมีผู้นำภาครัฐบาล เอกชน มาหารือและแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกันในเรื่องความสามารถในการผลิต อินเทอร์เน็ต นวัตกรรม และเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงร่วมกับผู้นำประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงและประเทศนอกภูมิภาคอื่นๆ ในเวทีดังกล่าวด้วย” พล.ต.วีรชนกล่าว

อีกด้านเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่กำหนดการการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 และการประชุม Boao Forum for Asia มีดังนี้นายกรัฐมนตรี และคณะ มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ณ เมืองซานย่า และการประชุม Boao Forum for Asia ณ เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2559

นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2559 ในช่วงบ่ายจากท่าอากาศยานทหาร (บน.6) ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเฟิ่งหวงเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเฟิ่งหวง เมืองซานย่า ในช่วงเย็น หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมฯ

วันที่ 23 มีนาคม 2559 เวลา 09.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในหัวข้อ “Shared River, Shared Future”ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติอ่าวย่าหลงเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน หลักจากเสร็จการประชุมนายกรัฐมนตรีจะร่วมชมนิทรรศการความร่วมมือของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างและเข้าร่วมการแถลงข่าวจากนั้นในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือกับนายหลี่ เค่อฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน

วันที่ 24 มีนาคม 2559 ในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีออกเดินทางจากโรงแรมที่พักไปยังเมืองโป๋อ๋าว เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Boao Forum for Asia ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติโป๋อ๋าว เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันซึ่งนายกรัฐมนตรีจีนเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม Boao Forum for Asia หลังจากนั้นในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากศูนย์การประชุมนานาชาติโป๋อ๋าวไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเฟิ่งหวง เมืองซานย่า เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะถึงประเทศไทยในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ส่วนเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดจะร่วมเดินทางพร้อม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม 2559 ณ เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน

ที่ประชุมผู้นำฯ จะทบทวนพัฒนาการและความคืบหน้า รวมถึงกำหนดทิศทางในอนาคตของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยและได้รับการสนับสนุนจากจีนและประเทศสมาชิกอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ จะพิจารณารับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาซานย่าการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 1 (2) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง และ (3) รายการโครงการเร่งด่วนเพื่อดำเนินการทันที

กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา ส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียน และเน้นการดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมและให้คุณค่าเพิ่มต่อการดำเนินการที่มีอยู่แล้วในกรอบความร่วมมืออื่นๆ นอกจากนี้ ยังมุ่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลักษณะใต้-ใต้ ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายที่ไทยให้ความสำคัญในวาระที่จะดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 (G77) ในปีนี้ด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Boao Forum for Asia ภายใต้หัวข้อหลัก “Asia's New Future: New Dynamics, New Vision” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในด้านความเชื่อมโยง การพัฒนาภายใต้หลักการ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งนี้ การประชุม Boao Forum for Asia จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2544 โดยเป็นข้อริเริ่มของนายฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายบ็อบ ฮอว์ก อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายโมริฮิโร่ โฮโซกาว่า อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่เสนอต่อนายหู จิ่นเทา รองประธานาธิบดีจีนในขณะนั้น เพื่อจัดให้เป็นเวทีหารือและแสดงวิสัยทัศน์จากภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาควิชาการ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 28 ประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น