ทางด่วนบ้านครัวยืดเยื้อ พ่นพิษ สตง.สั่ง กทพ.แจงประเด็นส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางด่วนนอกเมือง (ส่วน C, D) หลังพบสัญญาสัมปทานระบุชัด BEM ได้รับ 100% ต่อเมื่อได้สร้างทางด่วนช่วงบ้านครัว แต่ถึงวันนี้ยังไม่ได้สร้างแต่เอกชนกลับได้รับรายได้ 100% ด้านผู้ว่าฯ กทพ.มอบฝ่ายกฎหมายเร่งชี้แจงรายละเอียด
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อขอให้ชี้แจงเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจงบการเงินของ กทพ. เกี่ยวกับสัญญา โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ระหว่าง กทพ. กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL (บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในปัจจุบัน) โดยให้ กทพ.ชี้แจง สตง.ภายในวันที่ 21 มี.ค. 2559
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า ในสัญญาฯ ข้อ 11.6 สิทธิของ BECL ที่จัดเก็บค่าผ่านทางในส่วนของโครงข่ายนอกเขตเมือง (ส่วน C และส่วน D) ให้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวตลอดระยะเวลาสัญญา ทั้งนี้เว้นแต่ช่วงก่อนที่การก่อสร้างพื้นที่ส่วน B จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ รายได้จากค่าผ่านทางดังกล่าวจะนำมาแบ่งระหว่าง กทพ. กับ BECL ตามส่วนแบ่งที่เกี่ยวข้อง จนกว่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขครบถ้วนในส่วน B
เนื่องจาก กทพ.ไม่สามารถเวนคืนพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านครัวเพื่อส่งมอบให้ BECL ดำเนินการสร้างช่วงบริเวณถนนพญาไท ถึงถนนราชดำริ ในส่วน B ให้สมบูรณ์ได้ สตง.จึงให้ชี้แจงในประเด็น 1. กทพ.แก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างอย่างไร 2. กทพ.มีโครงการที่จะดำเนินการสร้างช่วงบริเวณถนนพญาไท ถึงถนนราชดำริ ในส่วน B อีกหรือไม่ 3. เมื่อไม่ได้ก่อสร้างช่วงบริเวณถนนพญาไท ถึงถนนราชดำริ ในส่วน B มีการชดเชยงบประมาณก่อสร้างที่ลดลงหรือไม่ 4. มีการแบ่งค่าผ่านทางของ กทพ.กับ BECL ในส่วน A, B, C, D ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการถึงปัจจุบันอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา
5. ตามเงื่อนไขสัญญาการแบ่งรายได้ค่าผ่านทางจะต้องก่อสร้างส่วน B แล้วเสร็จสมบูรณ์ คือรายได้ค่าผ่านทางส่วนนอกเมือง (C, D) จึงเป็นของ BECLทั้งหมด จึงขอทราบว่า กทพ.แบ่งรายได้ให้เป็นของ BECL ทั้งหมดเมื่อใด รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเท่าใด และเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ 6. เปรียบเทียบผลต่างของรายได้ค่าผ่านทางในการแบ่งรายได้จากส่วนนอกเมือง ในกรณีที่การก่อสร้างส่วน B ไม่สมบูรณ์ กับกรณีก่อสร้างส่วน B สมบูรณ์ เป็นจำนวนเท่าใด
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเร่งดำเนินการชี้แจงรายละเอียดตาม สตง.ได้สอบถามมาแล้ว
สำหรับทางด่วนศรีรัช หรือทางด่วนขั้นที่ 2 (นอกเมือง) ส่วน C เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2536 ระยะทาง 8 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผ่านถนนประชาชื่น มุ่งไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ และเชื่อมต่อกับทางพิเศษอุดรรัถยา เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง อัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ เก็บ 15 บาท รถ 6-10 ล้อ เก็บ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ เก็บ 35 บาท
ส่วน D เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2543 ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับส่วน A โดยเริ่มจากถนนพระราม 9 ไปทางทิศตะวันออก ตัดกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ทางแยกต่างระดับมักกะสัน ตัดกับทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนศรีนครินทร์ และเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง อัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ เก็บ 25 บาท รถ 6-10 ล้อ เก็บ 50 บาท ปรับเป็น 55 บาทในปี 2556 รถมากกว่า 10 ล้อ เก็บ 70 บาท ปรับเป็น 75 บาทในปี 2556