xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” หารือกฤษฎีกา ถกใช้ประโยชน์ที่ดินเวนคืนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” หารือ “กฤษฎีกา” ถกปม พ.ร.บ.เวนคืนฯ ตามข้อสั่งการ “นายกฯ” หาช่องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสังคมและสาธารณะรวมถึงเชื่อมโครงข่ายเพิ่มเติม วงในระบุต้องแก้ พ.ร.บ.เวนคืนฯ เพื่อนำที่ดินไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้หากก่อสร้างครบถ้วนแล้ว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในประเด็นข้อกฎหมายโดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าร่วมว่า ได้หารือถึงแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเวนคืนเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้กฤษฎีกาได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะยาว พ.ศ. 2558-2565 (ระยะ 8 ปี) ซึ่งอาจจะติดพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่กำหนดให้ที่ดินที่หน่วยงานเวนคืนใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน เนื่องจากจะนำไปใช้ประโยชน์อื่นไม่ได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีการเวนคืนมานั้น ควรนำมาใช้ประโยชน์ทางสังคม บริการสาธารณะ หรือการก่อสร้างเพื่อเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งในทุกรูปแบบได้ แต่ปัญหาของการดำเนินโครงการต่างๆ คือ ที่ดินที่หน่วยงานเวนคืนตาม พ.ร.บ.เวนคืนฯ พ.ศ. 2530 นั้นจะต้องใช้สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น จะนำไปพัฒนาในรูปแบบอื่นไม่ได้ เช่น กรมทางหลวง (ทล.) เวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนแล้ว หากจะทำจุดพักรถ หรือ Rest Area สำหรับบริการประชาชนนั้นจะทำได้เพียงจุดจอดรถ หรือมีบริการห้องน้ำเพิ่ม โดยต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษา เนื่องจากไม่สามารถให้เอกชนเข้ามาดำเนินการขายเครื่องดื่ม อาหารบริการเพิ่มเติมได้ เพราะเป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งขัด พ.ร.บ.เวนคืนฯ หรือกรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เวนคืนที่ดินบริเวณพระราม 9 ประมาณ 1,000 ไร่ ก่อสร้างเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าแล้ว มีที่เหลือแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้แต่ละหน่วยงานสรุปข้อมูลส่งต่อกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณา เช่น จำนวนที่ดินที่เวนคืนมา, แผนการใช้ที่ดิน ทั้งส่วนที่ดำเนินการเอง และส่วนที่ให้เอกชนเข้าร่วมทุน, ปัญหาการใช้ที่ดินจากการเวนคืน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการปรับแก้ พ.ร.บ.เวนคืนฯ เพื่อเปิดให้หน่วยงานสามารถนำที่ดินไปใช้พัฒนาเชิงพาณิชย์ได้นั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.เวนคืนฯ ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นอาจจะมีการนำประเด็นดังกล่าวพิจารณาร่วมด้วยเพื่อแก้ปัญหาการเวนคืนที่ดินของหน่วยงานรัฐได้ทั้งระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น