“อาคม” ประกาศหนุนอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ชิ้นส่วนในประเทศ เดินแผนพัฒนารางทุกระบบ ตั้งเป้าภายในปี 65 เพิ่มโครงข่ายรางทั่วประเทศอีก 3,000 กม.ลดต้นทุนลอจิสติกส์ของไทยจาก 14% เหลือ 10-12% ใน 8 ปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 ถึงการผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่ากระทรวงคมนาคมพร้อมให้การสนับสนุนการผลิตรถไฟฟ้าและใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนในประเทศ โดยมีแผนขับเคลื่อนการลงทุนภาคการขนส่งคมนาคมไทย ระหว่างปี 2558-2565 โดยเฉพาะแผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางจากปัจจุบันที่มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 4,070 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 กิโลเมตร รวมเป็น 7,070 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าของทางที่มีในปัจจุบัน
โดยแยกเป็นรถไฟ 4 ระบบ ประกอบด้วย 1. ระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 2. ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองกรุงเทพ 3. ระบบรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรทั่วประเทศ และ 4. ระบบรถไฟฟ้าขนาดรางมาตรฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอาเซียน และกลุ่มนอกอาเซียน จากแผนดังกล่าวรัฐบาลได้สร้างโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีทางรางและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งจะพิจารณาความต้องการของกลุ่มประเทศอาเซียนแล้วจะเห็นได้ว่าขนาดความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วน โรงงานประกอบอุปกรณ์ รวมถึงระบบอาณัติสัญณาณ รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีระบบรางอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงต้องเร่งรัดการลงทุนและการวิจัยพัฒนาเพื่อนำไปสู่มาตรฐานการพัฒนาชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในประเทศเป็นไปตามมาตรฐานสากลรวมถึงการพัฒนาบุคลากร ทั้งนี้ กระทรวงการมีการร่วมมือกับจากประเทศที่มีเทคโนโลยีในการพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีขีดความสามารถในการเดินรถไฟฟ้าที่ทันสมัย
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประชาชน ซึ่งแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยฉบับที่ 2 ปี 2556-2560 ได้กำหนดบทบาทประเทศให้มีการเชื่อมโยงการขนส่งทุกรูปแบบภายในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง-อาเซียนและเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึงเอเชียใต้ รวมไปถึงยุโรป โดยมีเป้าหมายเพิ่มการขนส่งทางรางจากปัจจุบัน 2% เป็น 5% ภายในปี 2565 คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนลอจิสติกส์ในปัจจุบันจาก 14%ให้เหลือ 10-12% ในระยะเวลา 8 ปี