xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เวนคืนกว่า 167 ไร่ สร้างทางคู่ “ชุมพร-สุราษฎร์ฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เปิดเวทีระดมสมองชาวชุมพรร่วมพัฒนารถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168.20 กม. มูลค่ากว่า 3.35 หมื่นล้าน เพิ่มความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ย่นเวลาจากชุมพรถึงสุราษฎร์ฯ เหลือ 1.30 ชม. พร้อมเปิดแนวเวนคืนกว่า 167 ไร่ ปรับรัศมีโค้ง คาดผู้ใช้บริการปี 65 ถึง 1.74 ล้านคน

วันนี้ (14 มี.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเสนอผลการศึกษาแนวเส้นทางโครงการชุมพร-สุราษฎร์ธานี มีจุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณปลายสถานีรถไฟชุมพร อ.เมือง จ.ชุมพร และสิ้นสุดที่สถานีสุราษฎร์ธานี อ.พุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมระยะทางโครงการทั้งสิ้น 168.20 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีรถไฟจำนวน 21 สถานี เป็นการก่อสร้างทางวิ่งรถไฟขนานไปกับทางรถไฟเดิมขนาดทาง 1 เมตร (Meter Gauge) ออกแบบทางวิ่งให้รองรับความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องมีการปรับปรุงเส้นทางรถไฟที่เป็นโค้งให้ได้รัศมี จึงจำเป็นต้องมีการเบี่ยงออกนอกพื้นที่เขตทางของ ร.ฟ.ท. จำนวน 13 แห่ง

ทำให้ต้องมีการเวนคืนพื้นที่ทั้งหมด 167.94 ไร่ โดย จ.ชุมพรมีการเวนคืนพื้นที่บริเวณ อ.เมือง ประมาณ 97.00 ไร่ อ.สวี ประมาณ 5.52 ไร่ อ.ทุ่งตะโก ประมาณ 0.78 ไร่ อ.หลังสวน ประมาณ 23.23 ไร่ และ อ.ละแม ประมาณ 32.96 ไร่ ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางด้วยรถไฟจากชุมพรถึงสุราษฎร์ธานีเหลือประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที รวมทั้งกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 108 จุด ซึ่งคำนึงถึงความเหมาะสมกับรูปแบบการเดินทางเดิมในท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด มีทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ ทางยกระดับ, ทางยกระดับตัวยู, ท่อลอดเหลี่ยมใต้ทางรถไฟ และยกระดับทางรถไฟ และก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ

สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่าโครงการมีความเหมาะสมในการลงทุน โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) ร้อยละ 12.80 มูลค่าการลงทุน 33,513.90 ล้านบาท มูลค่าผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ 4,309 ล้านบาท/ปี ในปี 2565 โดยแบ่งเป็นผลประโยชน์ด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ 2,427.1 ล้านบาท/ปี มูลค่าการประหยัดเวลาในการเดินทาง 1,016.0 ล้านบาท/ปี และมูลค่าการลดค่าใช้จ่ายทางด้านสิ่งแวดล้อม 865.8 ล้านบาท/ปี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2561 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2564 และจะมีผู้ใช้บริการทางรถไฟสายนี้ประมาณ 1,749,100 คนต่อปี และมีการขนส่งสินค้าประมาณ 883,500 ตันต่อปีในปี 2565

นอกจากนี้ ได้นำเสนอมาตรการในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชนระหว่างการก่อสร้างโครงการที่สำคัญ เช่น การสร้างคันดินป้องกันการชะล้างตะกอนหรือหน้าดินลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำสาธารณะ การติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวบริเวณพื้นที่ก่อสร้างด้านที่อยู่ใกล้กับพื้นที่อ่อนไหว และจะทำการขุด เจาะในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น การชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชดเชยทรัพย์สินเพื่อดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สินตลอดแนวเส้นทางโครงการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมมากที่สุด ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เป็นต้น

สำหรับการพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี จะส่งผลให้ทางรถไฟที่ผ่าน จ.ชุมพรเป็นทางคู่ทั้งหมด ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเล ลดระยะเวลาในการเดินทาง และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร หาดทุ่งวัวแล่น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ จังหวัดส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ และหากมีการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือน้ำลึกสงขลา การขนส่งระบบรางด้วยรถไฟรางคู่จะเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทั้งการนำเข้า-ส่งออก โดยใช้การขนส่งทางรางมาเป็นตัวเชื่อม (Land bridge) ระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการรองรับสินค้าเปลี่ยนถ่ายที่มีการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจะสร้างรายได้และความเจริญให้แก่ประเทศ รวมทั้งยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือทั้งสองฝั่งให้เป็นท่าเรือระดับนานาชาติ

โดยจัดสัมมนา ณ ห้องพุดพิชยา โรงแรมนานาบุรี อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร มีนายสมดี คชายั่งยืน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนจากจังหวัดชุมพร เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

กำลังโหลดความคิดเห็น