xs
xsm
sm
md
lg

สถาบัน CSIS แฉจีนติดตั้ง “เรดาร์ความถี่สูง” บนเกาะเทียม-ชี้เป็นภัยคุกคามยิ่งกว่า “ขีปนาวุธ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สิ่งปลูกสร้างบนเกาะปะการังคัวร์เตอรอน จากภาพถ่ายดาวเทียม Digitalglobe เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา
เอเจนซีส์ - ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies - CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เผยภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนกำลังสร้างระบบเรดาร์ล้ำสมัยขึ้นบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางทหารในภูมิภาคได้มากกว่าระบบขีปนาวุธเสียอีก

CSIS เผยภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งแสดงให้เห็นสิ่งก่อสร้างคล้ายระบบเรดาร์คลื่นความถี่สูง บนเกาะปะการังคัวร์เตอรอน (Cuarteron Reef) ในอาณาเขตหมู่เกาะสแปรตลีย์ รวมไปถึงประภาคาร บังเกอร์ใต้ดิน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ

ข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่เพียง 1 สัปดาห์ หลังจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวหาว่าปักกิ่งนำระบบขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศไปติดตั้งที่หมู่เกาะพาราเซล ซึ่งอยู่เลยขึ้นไปทางตอนเหนือ

“การติดตั้งระบบเรดาร์ความถี่สูงบนเกาะปะการังคัวร์เตอรอนจะช่วยให้จีนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของยานพาหนะทั้งภาคพื้นดินและอากาศที่มุ่งขึ้นเหนือมาจากช่องแคบมะละกา รวมไปถึงเส้นทางที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อื่นๆ” ข้อมูลจากเว็บไซต์ Asia Maritime Transparency Initiative ของสถาบัน CSIS ระบุ

ภาพถ่ายดาวเทียมของเกาะปะการังอื่นๆ ที่จีนได้แปรสภาพเป็นเกาะเทียม ได้แก่ กาเวน, ฮิวจ์ส และจอห์นสันเซาท์ ก็ปรากฏสิ่งปลูกสร้างที่ CSIS สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหอเรดาร์ ที่ตั้งปืนใหญ่ บังเกอร์ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และท่าเรือ

CSIS ชี้ว่า การที่จีนส่งระบบขีปนาวุธ HQ-9 ชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศไปยังเกาะวูดดี้ (Woody Island) เป็นสิ่งที่ “น่าจับตามอง” ก็จริง ทว่า “ยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางทหารในทะเลจีนใต้”

“แต่ระบบเรดาร์ที่จีนกำลังก่อสร้างขึ้นบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ อาจเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการปฏิบัติการ (operational landscape) ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ”

ไบรอัน คลาร์ก นักวิเคราะห์ด้านการเดินเรือจากศูนย์เพื่อการประเมินยุทธศาสตร์และงบประมาณ (Center for Strategic and Budgetary Assessments - CSBA) ระบุว่า แม้เรดาร์ความถี่สูงบนเกาะคัวร์เตอรอนอาจจะมีประโยชน์ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย เช่นเดียวกับเรดาร์ที่สหรัฐฯ ใช้ตรวจจับผู้ลักลอบขนยาเสพติดในอ่าวเม็กซิโกและทะเลแคริบเบียน แต่สำหรับเรดาร์ของจีนนั้นน่าจะมีวัตถุประสงค์ชั้นรองเพื่อตรวจจับ “อากาศยานหลบหลีกเรดาร์” ด้วย

เรดาร์ประเภทเดียวกันที่สหรัฐฯ และรัสเซียใช้อยู่สามารถตรวจจับเป้าหมายภาคพื้นดินซึ่งอยู่ห่างออกไปไกลระหว่าง 80-200 ไมล์ แต่สำหรับเรดาร์ของจีนและรัสเซียนั้นอาจถูกออกแบบให้สามารถค้นหาเครื่องบินที่ตรวจจับได้ยาก (low observable aircraft) ด้วย คลาร์ก ระบุ

“ถ้าผมเป็นจีน นี่ก็คือสิ่งที่ผมอยากจะนำไปติดตั้งไว้ เพื่อจับตาการติดต่อสื่อสารทั้งทางทะเลและทางอากาศบริเวณนั้น”

“มันใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง เพราะสามารถตรวจจับอากาศยานที่เรดาร์เตือนภัยแบบดั้งเดิมยากจะตรวจพบได้”

ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ สหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบล่องเข้าไปอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะพิพาทและเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้น เพื่อยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือ

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นทางผ่านของน้ำมันถึง 1 ใน 3 ของโลก และแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ท้องทะเลแถบนี้ยังถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนโดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไน

ปักกิ่งไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธข่าวการติดตั้งขีปนาวุธไว้บนเกาะวูดดี้ ซึ่งสื่อตะวันตกนำมารายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าอยู่ในอำนาจอธิปไตยที่จีนจะทำได้

รัฐบาลจีนยืนยันว่า ไม่เคยคิดลิดรอนเสรีภาพในการเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้ และการถมทะเลสร้างเกาะเทียมก็เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น ใช้สนับสนุนภารกิจค้นหาและช่วยชีวิต เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันจีนก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะนำ “ระบบป้องกันตนเอง” เข้าไปติดตั้ง

หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันนี้ (23) และคาดว่าจะมีการหารือเรื่องดังกล่าวกับรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ด้วย

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา และผู้นำจากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งได้จัดประชุมซัมมิตที่รีสอร์ตซันนีแลนด์ส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. ได้ออกคำแถลงร่วมเรียกร้องให้มีมาตรการผ่อนคลายความตึงเครียดในทะเลจีนใต้อย่างเป็นรูปธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น