xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา-อาเซียน” แถลงร่วมงดพาดพิง “จีน” โดยตรง-ย้ำแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ด้วย “สันติวิธี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ยืนถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกร่วมกัน หลังการประชุมซัมมิตที่รีสอร์ตซันนีแลนด์ส เมืองแรนโชมิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.)
รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เปิดแถลงข่าวหลังการประชุมร่วมกับผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) โดยระบุว่าตนและผู้นำอาเซียนได้หารือถึงความจำเป็นที่จะต้องลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และเห็นตรงกันว่าควรแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติด้วยวิธีทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงร่วมจากการประชุมซัมมิตระหว่างโอบามา กับผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ที่รีสอร์ตซันนีแลนด์ส เมืองแรนโชมิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. ไม่ได้กล่าวพาดพิงชัดเจนถึงการที่จีนใช้นโยบายแข็งกร้าวเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้

โอบามาแถลงว่า ผู้นำทุกประเทศ “ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามระเบียบของภูมิภาค ซึ่งกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ตลอดจนสิทธิของทุกๆ ชาติไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กจะต้องไม่ถูกมองข้าม”

“เราได้หารือถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนยับยั้งการแปรสภาพที่ดิน การก่อสร้าง และการส่งทหารเข้าไปควบคุมพื้นที่พิพาท”

“เมื่อใดที่อาเซียนประกาศจุดยืนชัดเจนเป็นเสียงเดียวกัน เมื่อนั้นความมั่นคง โอกาส และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็จะถูกยกระดับขึ้น”

หลังจากการประชุมวันแรกซึ่งเน้นหนักไปในเรื่องเศรษฐกิจและการค้า เจ้าหน้าที่วอชิงตันคาดหวังว่าการพูดคุยในวันที่สองจะทำให้สหรัฐฯ และอาเซียนจะสามารถประกาศจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้จีนและสมาชิกอาเซียนหลายประเทศต้องบาดหมางกันอยู่

อย่างไรก็ดี ผู้นำอาเซียนยังไม่อาจเห็นพ้องเกี่ยวกับวิธีจัดการข้อพิพาท ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากลาวซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปัจจุบัน รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา มีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้นกับปักกิ่ง

แทนที่จะกล่าวพาดพิงถึงจีนโดยตรง คำแถลงร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนเพียงแต่ย้ำหลักความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งได้แก่ “การเคารพในอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ความเท่าเทียม อิสรภาพทางการเมืองของทุกประเทศ และเจตนารมณ์ร่วมที่จะคลี่คลายข้อพิพาทด้วยแนวทางสันติวิธี”
บรรยากาศการประชุมซัมมิตสหรัฐฯ - อาเซียน ที่รีสอร์ตซันนีแลนด์ ในวันที่ 16 ก.พ.
ที่ประชุมยังประกาศจะ “ร่วมกันปกป้องสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล และเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน”

รัฐบาลจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและแหล่งพลังงานขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก ซึ่งแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ท้องทะเลแถบนี้ยังถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนโดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไน

สำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์รายงานเมื่อวานนี้ (16) ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมพลเรือนเผยให้เห็นว่ากองทัพจีนได้ส่งระบบป้องกันขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศ ไปติดตั้งที่หมู่เกาะพิพาทแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้

แม้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทะเลจีนใต้โดยตรง แต่สหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีต่อต้านการอ้างสิทธิ์ของจีนอย่างเปิดเผย และยังทำให้ปักกิ่งขุ่นเคืองอย่างหนักด้วยการส่งเรือของกองทัพเรือแล่นเฉียดเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นถึงสองครั้ง เพื่อยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือ

จีนกล่าวหาวอชิงตันว่าแสดงอำนาจบาตรใหญ่ทางทะเล โดยเอาเสรีภาพในการเดินเรือมาเป็นข้ออ้าง

โอบามาย้ำว่า เสรีภาพในการเดินเรือ “จะต้องได้รับการปกป้อง และการค้าขายอย่างถูกกฎหมายก็จะต้องไม่มีอุปสรรค” พร้อมประกาศว่า สหรัฐฯ “จะยังคงใช้น่านฟ้า ล่องเรือ และปฏิบัติภารกิจในทุกๆ สถานที่ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และสนับสนุนให้ทุกประเทศมีสิทธิ์กระทำเช่นเดียวกัน”

โอบามายังให้คำมั่นว่า สหรัฐฯ จะช่วยยกระดับศักยภาพด้านการป้องกันทางทะเลให้แก่ชาติพันธมิตรและหุ้นส่วน

ทั้ง 2 ฝ่ายยังตกลงที่จะสร้างกลไกเพื่อช่วยให้อาเซียนทุกประเทศมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่จะร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมแล้วเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

สหรัฐฯ และอาเซียน ยังได้ร่วมจัดทำโครงการใหม่ที่ชื่อว่า US - ASEAN Connect ซึ่งโอบามาระบุว่าจะมีเครือข่าย “ฮับ” ทั่วภูมิภาค เพื่อเพิ่มความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ




กำลังโหลดความคิดเห็น