ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการประชุมร่วมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ กับบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” โดยผลการประชุมแบบเป็นรูปธรรมที่ถูกระบุว่า “สามารถจับต้องได้” มากที่สุดจากเวทีประชุมระดับซัมมิตในคราวนี้คงหนีไม่พ้นการแสดงจุดยืนร่วมกันของที่ประชุมว่า ปัญหาข้อพิพาทระหว่างหลายชาติในอาเซียนกับจีนเกี่ยวกับอธิปไตยใน “ทะเลจีนใต้” นั้น ต้องแก้ด้วย “สันติวิธี” เท่านั้น
เมื่อวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งใกล้หมดวาระในอีกไม่ถึงขวบปีนับจากนี้ ได้เปิดแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมครั้งประวัติศาสตร์ กับผู้นำประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ (อาเซียน) โดยโอบามาเผยว่าตนเองและผู้นำชาติอาเซียนได้หารือและต่างเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยลดทอนการกระทบกระทั่ง และความตึงเครียดรูปแบบต่างๆ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ (South China Sea) และว่าที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรแก้ไขข้อพิพาทนี้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นประเทศคู่กรณีอย่างสันติผ่านช่องทางด้านการทูตและช่องทางตามหลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า ถ้อยแถลงร่วมที่ถือเป็นผลิตผลจากการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีโอบามา กับ 10 ผู้นำชาติอาเซียน ที่สถานตากอากาศซันนีแลนด์ส เมืองแรนโชมิราจ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.ที่ผ่านมา กลับไม่ได้มีการกล่าวพาดพิงอย่างโจ่งแจ้งถึงการที่รัฐบาลปักกิ่งใช้นโยบายที่แข็งกร้าวเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนพิพาททั้งปวงในน่านน้ำทะเลจีนใต้
ผู้นำสหรัฐฯ แถลงย้ำว่า ผู้นำของทุกประเทศในเวทีซัมมิตที่แรนโชมิราจในคราวนี้ต่างย้ำชัดถึงเจตนารมณ์ ที่จะปฏิบัติตามระเบียบของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ที่จะต้องไม่ถูกมองข้ามหรือเพิกเฉยละเลย
“พวกเราได้หารือกันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสำหรับลดทอนความตึงเครียดในน่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนต้องมีมาตรการที่จำเป็นสำหรับยับยั้งการแปรสภาพที่ดิน การก่อสร้าง และการส่งกำลังทหารในรูปแบบต่างๆ เข้าไปควบคุมพื้นที่พิพาททางทะเลแห่งนี้ และเมื่อใดก็ตามที่อาเซียนประกาศจุดยืนชัดเจนร่วมกันได้ เมื่อนั้นความมั่นคง โอกาสแห่งสันติ ตลอดจนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันก็จะถูกยกระดับขึ้นตามมา” โอบามากล่าว
ในความเป็นจริงแล้วการประชุมซัมมิตผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียนที่แรนโชมิราจในวันแรก (15 ก.พ.) ได้เน้นหนักในเรื่องของประเด็นทางด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นหลักใหญ่ แต่ถึงกระนั้นประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่คุกรุ่นกลับบดบังความสำคัญของการประชุมประเด็นอื่นๆ เกือบหมดสิ้น โดยแหล่งข่าวที่เป็น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลวอชิงตัน ย้ำว่าการพูดคุยในวันที่ 2 สหรัฐฯ และอาเซียนจะต้องสามารถประกาศจุดยืนที่เป็นเอกภาพร่วมกันเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนและสมาชิกกลุ่มอาเซียนหลายประเทศต้องบาดหมางกันอยู่ในเวลานี้
ที่ผ่านมารัฐบาลจีนประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำและเกาะแก่งเกือบทั้งหมดหรือกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและเป็นแหล่งพลังงานขนาดมหึมาแล้ว น่านน้ำทะเลจีนใต้ยังถือเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการที่มีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละขวบปี
แต่จีนมิได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่อ้างว่าตนเองมีสิทธิเหนืออธิปไตยในดินแดนและน่านน้ำทะเลจีนใต้ เพราะพื้นที่พิพาททางทะเลแห่งนี้ยังถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนโดยรัฐบาลของหลายประเทศทั้งไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไนดารุสซาลาม และฟิลิปปินส์
ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ รัฐบาลปักกิ่งได้ยกระดับการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้แบบแข็งขันในหลายรูปแบบ ทั้งการที่กองทัพจีนได้ส่งระบบป้องกันขีปนาวุธ ชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศ ไปติดตั้งที่หมู่เกาะพิพาทแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้ ตลอดจน ความพยายามในการสร้าง “เกาะเทียม” รวมถึงสิ่งปลูกสร้างถาวรรูปแบบอื่นๆ ยังไม่นับรวมการที่เรือรบของจีนแสดงพฤติกรรมคุกคามการเดินเรือเชิงพาณิชย์ของบรรดาประเทศคู่พิพาทในน่านน้ำแถบนี้
ในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้น ถึงแม้ว่าทางวอชิงตันจะดูเหมือนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในทะเลจีนใต้ แต่ถึงกระนั้นสหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีคัดค้านการอ้างสิทธิ์ของจีนอย่างออกหน้าออกตา ซ้ำร้ายวอชิงตันยังสร้างความขุ่นเคืองอย่างหนักแก่จีนด้วยการส่งเรือของกองทัพเรือยูเอสแล่นเฉียด เกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นถึงสองครั้งสองครา เพื่อยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือของนานาชาติในน่านน้ำพิพาทนี้ ท่ามกลางเสียงเชียร์จากหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์ที่ถือเป็นพันธมิตรทางด้านความมั่นคงที่สำคัญของทางวอชิงตันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และยังถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับปักกิ่งมายาวนาน
ขณะที่จีนเองก็กล่าวหาสหรัฐฯ มาตลอดว่าชอบแสดงอำนาจระราน โดยเอาเสรีภาพในการเดินเรือของนานาชาติในทะเลจีนใต้มาเป็นข้ออ้าง และว่าสหรัฐฯ กำลังจับมือกับหลายชาติในอาเซียนในการหาทางสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคแห่งนี้
สุดท้ายนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประชุมซัมมิตระหว่างผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียนที่แรนโชมิราจที่เพิ่งปิดฉากได้ช่วยจุดประกายแห่งความหวังเล็กๆ ว่าข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะไม่ลุกลามบานปลายไปสู่การใช้กำลังเข้าปะทะกันของคู่กรณีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพัวพันกันอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการประกาศยึดหลักสันติวิธี ในการแก้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ของสหรัฐฯและอาเซียนในครั้งนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใด หรือสุดท้ายก็อาจกลายเป็นเพียงถ้อยแถลงที่สวยหรูทางการทูตเท่านั้น